ชุมนุมเพลงตับเรื่องพระลอ

(1/4) > >>

woraphon:
 :TCL_001:

พระลอเป็นวรรณคดีไทยคลาสสิก ซึ่งประพันธ์ในรูปแบบของ “ลิลิต” (ลิลิตเป็นคำประพันธ์ประเภทร้อยกรองซึ่งใช้โคลงและร่ายต่อสัมผัสกันเป็นเรื่องยาว) “ลิลิตพระลอ” ได้รับการยกย่องให้เป็นสุดยอดวรรณคดีประเภทลิลิต เชื่อกันว่าลิลิตพระลอคงแต่งขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา ยุคก่อนสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยพระราชโอรสซึ่งเป็นรัชทายาทของพระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่งเป็นผู้แต่ง

เนื้อเรื่องโดยย่อของลิลิตพระลอ กล่าวถึงเมือง ๒ เมืองที่เป็นอริกัน คือเมืองสรวงและเมืองสรอง (เมืองสรวงว่ากันว่าคือเมืองสองของจังหวัดแพร่นี่แหละ ส่วนเมืองสรองอาจอยู่ไม่ไกลกันนักทางตะวันตกของเมืองสรวง) กษัตริย์เมืองสรวงคือท้าวแมนสรวงมีมเหสีชื่อนางบุญเหลือ มีโอรสชื่อพระลอ เมื่อสิ้นท้าวแมนสรวง พระลอได้ขึ้นครองราชย์แทน และมีมเหสีชื่อนางลักษณาวดี ส่วนเมืองสรองมีกษัตริย์ชื่อท้าวพิมพิสาคร ซึ่งทำเคยสงครามกับท้าวแมนสรวง และถูกท้าวแมนสรวงฆ่าตาย ท้าวพิชัยพิษณุกรผู้เป็นโอรสได้ขึ้นครองราชย์ต่อ มีมเหสีชื่อดาราวดี และมีธิดา2 องค์ คือพระเพื่อนกับพระแพง ซึ่งมีสิริโฉมงดงามยิ่ง

พระเพื่อนกับพระแพงได้ยินกิติศัพท์ของพระลอว่ารูปงามนัก ก็หลงใหลถึงกับให้ปู่เจ้าสมิงพรายทำเสน่ห์เพื่อให้ได้พระลอมาเป็นสามี แต่เมื่อปู่เจ้าสมิงพรายทำเสน่ห์ใส่พระลอ ทางเมืองสรวงก็มีปู่หมอสิทธิไชยที่แก้มนตร์เสน่ห์นั้นได้ทุกครั้ง

ปู่เจ้าสมิงพรายจึงระดมกองทัพภูตผีเข้าทำลายทั้งผีและอาคมที่คุ้มครองเมืองสรวงไว้ จากนั้นก็ใช้มนตร์สลาเหิน เสกหมากมนตร์ให้ลอยไปตกในพานหมากของพระลอ เมื่อพระลอเสวยหมากคำนั้นเข้าก็ให้คร่ำครวญหาแต่พระเพื่อนพระแพงต้องการจะไปเมืองสรองให้ได้โดยไม่ฟังคำทัดทานผู้ใด พระลอจึงออกเดินทางสู่เมืองสรอง

เมื่อเข้าเขตเมืองสรองปู่เจ้าสมิงพรายก็ใช้ให้ผีลงสิงไก่ ไปล่อเพื่อนำทางพระลอจนได้พบพระเพื่อนกับพระแพง เมื่อท้าวพิชัยพิษณุกรทรงทราบเรื่องก็คิดจะจัดพิธีอภิเษกให้ แต่ย่าเลี้ยงของพระเพื่อนพระแพงยังมีความพยาบาทเมืองสรวง ได้อ้างรับสั่งท้าวพิชัยพิษณุกรให้ทหารมาล้อมจับจึงเกิดการต่อสู้กันขึ้นพระลอพระเพื่อนพระแพงและเหล่าพี่เลี้ยงถูกทหารฆ่าตายหมด ท้าวพิชัยพิษณุกรทรงเสียพระทัยมาก รับสั่งให้ประหารชีวิตพระเจ้าย่าและทหารที่เข้าไปล้อมจับ หลังจากจัดการพระศพของพระลอและพระเพื่อนพระแพงอย่างสมเกียรติแล้ว ท้าวพิชัยพิษณุกรได้ส่งพระราชสารไปบอกยังเมืองสรวงให้ทราบ ต่อมาภายหลังทั้งสองเมืองก็กลับมิตรกัน (ขอขอบคุณข้อมูลจากข้อเขียนของคุณจรกาในเว็บบ้านแจนและเว็บจังหวัดแพร่)

เรื่องราวของพระลอในลิลิตพระลอเป็น “โศกนาฏกรรม” หรือ “Tragedy” (เรื่องราวที่เป็นเรื่องเศร้าสลดใจ) เพราะลงท้ายด้วยความตายของพระเอกนางเอกทั้งหมด แต่ในระหว่างเรื่องคละเคล้าไปด้วยความรัก ความเสน่หา  ความหลง มนตรา  อาถรรพ์ ในเว็บวิกิพีเดียสรุปว่าพระลอเป็นลิลิตที่แต่งขึ้นอย่างประณีตงดงาม มีความไพเราะของถ้อยคำ และเต็มไปด้วยสุนทรียศาสตร์ พรรณนาเรื่องด้วยอารมณ์ที่หลากหลาย ใช้กวีโวหารอย่างยอดเยี่ยม ในการบรรยายเนื้อเรื่อง ที่มีฉากอย่างมากมาย หลากหลายอารมณ์ โดยมีแก่นเรื่องแบบรักโศก หรือโศกนาฏกรรม และแฝงแง่คิดถึงสัจธรรมของชีวิต

 :TCL_004:

woraphon:
 :TCL_001:

ขอยกตัวอย่างและแง่คิดดี ๆ จากเรื่องลิลิตพระลอ เช่น

ตัวอย่างการแต่งโคลงสี่สุภาพที่ตรงตามสเปก คือเอก ๗ โท ๔ ซึ่งหาดูตัวอย่างได้น้อยมาก

๏ เสียงฦๅเสียงเล่าอ้าง    อันใด พี่เอย
เสียงย่อมยอยศใคร    ทั่วหล้า
สองเขือพี่หลับใหล    ลืมตื่น ฤาพี่
สองพี่คิดเองอ้า    อย่าได้ถามเผือ

คำคมเรื่องบาปบุญคุณโทษ

๏ ใดใดในโลกล้วน   อนิจจัง
คงแต่บาปบุญยัง   เที่ยงแท้
คือเงาติดตัวตรัง   ตรึงแน่น อยู่นา
ตามแต่บุญบาปแล้   ก่อเกื้อรักษาฯ

๏ ถึงกรรมจักอยู่ได้ ฉันใด พระเอย
กรรมบ่มิมีใคร ฆ่าข้า
กุศลส่งสนองไป ถึงที่ สุขนา
บาปส่งจำตกช้า ช่วยได้ฉันใด


พระคุณแม่

๏ ร้อยชู้ฤๅเท่าเนื้อ   เมียตน
เมียแล่พันฤๅดล   แม่ได้
ทรงครรภ์คลอดเป็นคน   ฤๅง่าย เลยนา
เลี้ยงยากนักท้าวไท้   ธิราชผู้มีคุณ

 :TCL_004:

woraphon:
 :TCL_001:

อีกแง่มุมหนึ่ง เรื่องตัณหาความรักความใคร่ในเรื่องพระลอดูจะก้าวหน้าเกินกว่ายุคสมัยมาก จากตัวอย่างนี้

๏ สรงสนุกน้ำแล้วกลับ สนุกบก เล่านา
สองร่วมใจกันยก ย่างขึ้น
ขึ้นพลางกอดกับอก พลางจูบ
สนุกดินฟ้าฟื้น เฟื่องฟุ้งฟองกาม

๏ สองนางนำแขกขึ้น เรือนสวน
ปัดฟูกปูอาสน์ชวน ชื่นชู้
สองสมพาสสองสรวล สองเสพย์
สองฤดีรสรู้ เล่ห์พร้อมเพรียงกัน

๏ เสร็จสองสมพาสแล้ว กลกาม
สองอ่อนสองโอนถาม ชื่อชู้
สองมาแต่ใดนาม ใดบอก ราพ่อ
ให้แก่สองเผือรู้ ชื่อรู้เมืองสอง

(ท่านผู้ใดสนใจเรื่องลิลิตพระลอเป็นพิเศษ อ่านได้จากข้อเขียนของขุนมน http://pralor.thaiderm.com/)

 :TCL_004:

woraphon:
 :TCL_001:

เมื่อเริ่มมีการแสดงละครกันในประเทศไทย เรื่องพระลอเป็นเรื่องหนึ่งที่คนติดใจใคร่ชม ว่ากันว่าเริ่มมีละครเรื่องพระลอมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ที่มีบทละครเป็นลายลักษณ์อักษรนั้นคงเป็นบทละครเรื่อง “พระลอนรลักษณ์” ที่สมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ (พ.ศ. ๒๓๒๘-๒๓๗๕) ซึ่งเป็นกรมพระราชวังบวรในรัชกาลที่ ๓ แต่งขึ้นก่อนและนำไปแสดงเป็นละครให้คนชมกัน  

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว.หลาน กุญชร) ได้แต่งบทละครเรื่องพระลอขึ้นเป็นสำนวนที่ ๒ ใช้แสดงในละครดึกดำบรรพ์ สำหรับ "โรงละครดึกดำบรรพ์"

ต่อมาอีกไม่นานเกิดบทละครเรื่องพระลอสำนวนที่ ๓ เป็นสำนวนของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ (พ.ศ. ๒๔๐๔-๒๔๗๔) โดยบทละครเรื่องพระลอตอนกลางแต่งขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๕๑ นำไปแสดงละครถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระที่นั่งอภิเษกดุสิต ในโอกาสต้นลิ้นจี่ออกผลครั้งแรก เป็นที่พอพระราชหฤทัยมาก

นอกจากนั้น ยังมีข้อมูลบางกระแสว่า มีบทละครพันทางเรื่องพระลอ พระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์อีกสำนวนหนึ่งด้วย

บทละครเรื่องพระลอนี่แหละที่ทำให้เกิดเพลงตับเรื่องพระลอขึ้นในโอกาสต่อมา

 :TCL_004:

woraphon:
 :TCL_001:

เพลงตับ

“เพลงตับ” หมายถึง เพลงไทยเดิมหลายเพลงที่นำมาบรรเลง (และขับร้อง) ติดต่อกันเป็นชุด แบ่งออกเป็นตับเพลง และตับเรื่อง

“ตับเพลง”  เป็นเพลงตับที่บรรเลง (และขับร้อง) ต่อกัน โดยเพลงนั้นจะต้องมีทำนองที่สอดคล้องกัน เช่น มีเสียงขึ้นต้นเพลงคล้าย ๆ กัน หรือมีสำเนียงคล้าย ๆ กัน และเป็นเพลงในอัตราจังหวะเดียวกัน เช่น เป็นเพลงอัตราจังหวะสองชั้นเหมือนกัน หรืออัตราจังวะสามชั้นเหมือนกัน  สำหรับบทร้องไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องเดียวกัน ตัวอย่างตับเพลง เช่น ตับต้นเพลงฉิ่ง (สามชั้น)  ประกอบด้วยเพลงต้นเพลงฉิ่ง เพลงจระเข้หางยาว เพลงตวงพระธาตุ เพลงนกขมิ้น เป็นต้น

“ตับเรื่อง” เป็นเพลงตับที่บรรเลง (และขับร้อง) ต่อกัน โดยมีบทร้องที่เป็นเรื่องเดียวกัน และดำเนินเรื่องไปตามลำดับ เมื่อฟังเพลงตับแล้วจะรู้เรื่องนั้น ๆ โดยตลอดตั้งแต่ต้นจนจบ  ส่วนทำนองเพลงจะเป็นเพลงต่างอัตราจังหวะ หรือเป็นเพลงต่างประเภทกันก็ได้ เพลงตับเรื่องจึงเป็นเพลงที่ใช้ประกอบการแสดงโขนละครได้ ในทางกลับกัน เพลงตับเรื่องนำมาทั้งหมดหรือตัดมาจากบทละครเพลงก็ได้ ตัวอย่างเพลงตับเรื่อง ได้แก่ ตับนางลอย (มาจากเรื่องรามเกียรติ์ตอนนางเบญกายแปลงตัวไปหลอกกองทัพพระรามว่านางสีดาตายแล้ว) และตับเรื่องพระลอทั้งหมด

 :TCL_004:

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป






Saisampan.net
สายสัมพันธ์ - เพลงลูกทุ่งเก่า (เก่ากว่าที่ท่านคิด)