ยินดีต้อนรับคุณ,
บุคคลทั่วไป
กรุณา
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
1 ชั่วโมง
1 วัน
1 สัปดาห์
1 เดือน
ตลอดกาล
เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ธันวาคม 23, 2024, 03:02:22 am
หน้าแรก
•
ช่วยเหลือ
•
ค้นหา
•
เข้าสู่ระบบ
•
สมัครสมาชิก
สถานีวิทยุออนไลน์
สายสัมพันธ์
ท่านสามารถขอเพลงฟังได้
ที่กล่องขอเพลงด้านซ้ายมือ
แต่อาจไม่ได้รับฟังทุกเพลง
เนื่องจากจะรองรับเพลงตามขอ
ของสมาชิกภายในก่อน
สายสัมพันธ์
>
Health Advice (สุขภาพ)
>
พลานามัย
>
วิตามิน...กินให้เป็น - ตอนที่ 1 และ ตอนที่ 2
หน้า: [
1
]
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
ผู้เขียน
หัวข้อ: วิตามิน...กินให้เป็น - ตอนที่ 1 และ ตอนที่ 2 (อ่าน 4520 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
sainam
สมาชิก
คำขอบคุณ: 1341
ออฟไลน์
เพศ:
กระทู้: 468
สมาชิก ID: 2046
Level and Hp mod by the DtTvB :: version 1.02 :: Made for Zone-IT.com
Level 17 : Exp 53%
HP: 0%
วิตามิน...กินให้เป็น - ตอนที่ 1 และ ตอนที่ 2
«
เมื่อ:
ตุลาคม 31, 2012, 03:02:46 pm »
จากกระทู้เรื่องกินวิตามินตอนไหนดีล่ะ นั้น คุณ J.R. แนะนำอยากให้ลงเกี่ยวกับผลของการกินวิตามินมากเกินความต้องการของร่างกาย ก็ลองไปหาดูได้เจอบทความของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ฝ่ายเทคโนโลยีอาหาร เรื่อง วิตามิน...กินให้เป็น มาฝากท่านสมาชิก หากเจออะไรดีๆอีกแล้วก็จะนำมาแบ่งปันกันอีกนะจ๊ะ
วิตามิน...กินให้เป็น (ตอนที่ 1)
วิตามินเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายของคนเรา เพราะร่างกายต้องการวิตามินไม่มากนัก แต่ก็ขาดไม่ได้ เพราะจะทำให้มีปัญหาสุขภาพตามมา เช่น
ขาดวิตามินซี ทำให้เหงือกไม่แข็งแรง เป็นโรคเลือดออกตามไรฟัน
ขาดวิตามินบี 1 ทำให้เป็นโรคเหน็บชา ถ้า
ขาดวิตามินเอทำให้ไม่สามารถมองเห็นในที่มืด ภูมิต้านทานโรคไม่ดี เป็นต้น
หากเปรียบร่างกายของเรากับรถยนต์ วิตามินก็ทำหน้าที่เหมือนน้ำมันหล่อลื่นในเครื่องยนต์ ที่ช่วยหล่อลื่นให้เครื่องยนต์เดินได้สะดวก และคนเราก็มักจะได้รับข้อมูลเฉพาะในเรื่องประโยชน์ของวิตามินที่มีต่อสุขภาพ ทำให้เกิดความกังวลว่าในแต่ละวันจะได้รับวิตามินเพียงพอกับความต้องการของร่างกายหรือไม่ โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่ไม่ค่อยมีเวลากับเรื่องอาหารการกินมากนัก อาศัยฝากท้องกับร้านอาหารนอกบ้าน ประกอบกับแรงโฆษณาทั้งทางตรงและผ่านสื่อต่าง ๆ ส่งผลให้คนจำนวนไม่น้อยตัดสินใจซื้อวิตามินในรูปของเม็ดยามากิน ถึงแม้ว่าเม็ดยาต่าง ๆ ดังกล่าวจะมีราคาแพงกว่าการซื้ออาหารมากินเพื่อให้ได้วิตามินก็ตามที ซึ่งการกินวิตามินในรูปของเม็ดยานั้น หากไม่อยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพอาจทำให้ได้รับวิตามินมากเกินความต้องการของร่างกายและเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้
นักวิชาการแบ่งวิตามินออกเป็น 2 ชนิดตามคุณสมบัติของวิตามิน
ชนิดแรกคือวิตามินที่ละลายในน้ำ ร่างกายจะนำวิตามินไปใช้ประโยชน์ได้ต้องมีน้ำเป็นตัวพาไป ได้แก่ วิตามินบีรวม และวิตามินซี วิตามินบีรวมประกอบด้วยวิตามินบีหลายตัว ที่รู้จักแพร่หลายคือ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 6 วิตามินบี 12 โฟเลต และไนอะซิน
ส่วนวิตามินอีกชนิดหนึ่งคือ วิตามินที่ละลายในน้ำมัน นั่นคือการที่ร่างกายจะนำไปใช้ประโยชน์ได้ต้องมีน้ำมันเป็นตัวนำ วิตามินในกลุ่มนี้ ได้แก่ วิตามินเอ วิตามินดี วิตามินอี และวิตามินเคร่างกายต้องการ
ชนิดแรกคือวิตามินที่ละลายในน้ำ
วิตามินบี 1 วันละ 1.5 มิลลิกรัม อาหารที่มีวิตามินบี 1 สูงจากการวิเคราะห์อาหารส่วนที่กินได้ 100 กรัม ได้แก่ เนื้อหมู (0.69 มิลลิกรัม) ข้าวกล้อง (0.34 มิลลิกรัม) เมล็ดฟักทองแห้ง (0.40 มิลลิกรัม) ถั่วลิสงต้ม (0.56 มิลลิกรัม) ถั่วเขียว (0.66 มิลลิกัม) รำข้าว (1.26 มิลลิกรัม) ลูกเดือย (0.41 มิลลิกรัม) เป็นต้น แต่ถ้ากินปลาดิบ กินหมาก ดื่มน้ำชา หรือเคี้ยวเมี่ยง ควบคู่ไปกับการกินอาหารที่มีวิตามินบี 1 สารที่อยู่ในอาหารดังกล่าวข้างต้นจะขัดขวางไม่ให้ร่างกายสามารถดูดซึมวิตามินบี 1 ไปใช้ประโยชน์ จึงไม่ควรกินอาหารดังกล่าวพร้อมอาหารมื้อหลัก หากเราได้รับวิตามินบี 1 ไม่พียงพอจะมีอาการเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ไม่มีแรง มีอาการเหน็บชา คือชาตามมือตามเท้าทั้งสองข้าง ต่างจากอาการเป็นเหน็บตรงที่จะชาเฉพาะที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งเกิดจากอวัยวะส่วนนั้นถูกกดทับเป็นเวลานานๆ ทำให้เลือดไหลไปเลี้ยงส่วนนั้นไม่สะดวกจึงมีอาการเป็นเหน็บขึ้น (บางคนก็เรียกอาการที่เกิดขึ้นดังกล่าวว่าเป็นเหน็บชา จึงทำให้เข้าใจผิดว่าอาการเป็นเหน็บกับโรคเหน็บชาเป็นชนิดเดียวกัน) การเป็นเหน็บแก้ไขโดยอย่าอยู่ในท่าเดิมนานๆ หรือท่าที่ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก เช่น การนั่งพับเพียบนาน ๆ ก็ทำให้เป็นเหน็บได้ง่าย
วิตามินบี 2 มีหน้าที่สำคัญที่จะช่วยให้ร่างกายใช้ประโยชน์จากพลังงานได้อย่างเต็มที่ ร่างกายต้องการวิตามินบี 2 วันละ 1.7 มิลลิกรัม ซึ่งอาหารที่มีวิตามินบี 2 มาก โดยวิเคราะห์จากอาหารส่วนที่กินได้ 100 กรัม ได้แก่ นมสด (0.16 มิลลิกรัม) ไข่ไก่ (0.40 มิลลิกรัม) เนื้อวัว (0.34 มิลลิกรัม) เห็ดฟาง (0.33 มิลลิกรัม) ตับไก่ (1.32 มิลลิกรัม) ตับวัว (1.68 มิลลิกรัม) เป็นต้น หากได้รับไม่เพียงพอจะมีแผลที่มุมปากทั้งสองข้าง (ปากนกกระจอก) ถ้ามีแผลที่มุมปากเพียงข้างเดียวไม่ได้เกิดจากการขาดวิตามินบี 2 แต่เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ส่วนใหญ่มักเกิดกับเด็กที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร หากเราดื่มนมเป็นประจำทุกวันก็ไม่ต้องกังวลว่าจะขาดวิตามินบี 2 เพราะนมที่ไม่ถูกแสงหรือความร้อน 2 แก้วก็เท่ากับปริมาณวิตามินบี 2 ที่ร่างกายต้องการในหนึ่งวันแล้ว
วิตามินบี 6 ร่างกายต้องการเพียงวันละ 1.8-2.2 มิลลิกรัมต่อวัน วิตามินชนิดนี้มีหน้าที่เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ของโปรตีนในร่างกาย พบมากในอาหารที่ให้โปรตีน ได้แก่ ถั่วเหลือง ตับสัตว์ ไข่ และนม คนไทยมักไม่ขาดวิตามินชนิดนี้ ยกเว้นในคนที่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ มีการใช้ยารักษาวัณโรค เป็นต้น
วิตามินบี 12 ร่างกายต้องการเพียง 2 ไมโครกรัมต่อวัน แหล่งอาหารที่ให้วิตามินบี 12 คือ เนื้อสัตว์ทั้งสัตว์บกและสัตว์ทะเล เครื่องในสัตว์ และอาหารหมักดองจากสัตว์ ดังนั้นผู้ที่เสี่ยงต่อการขาดวิตามินบี 12 คือผู้ที่กินอาหารมังสวิรัติแบบเคร่งครัดเป็นเวลานาน ซึ่งจะทำให้เกิดโรคโลหิตจาง คนที่กินอาหารครบ 5 หมู่ปกติจึงไม่ต้องกังวลว่าจะขาดวิตามินบี 12 เพราะในหนึ่งวันร่างกายต้องการในปริมาณน้อยมาก
โฟเลต หรือกรดโฟลิก ร่างกายต้องการเพียง 200 ไมโครกรัมต่อวัน หากเป็นหญิงตั้งครรภ์จะต้องการมากขึ้นเป็น 400 ไมโครกรัมต่อวัน วิตามินชนิดนี้มีความสำคัญในการช่วยสร้างเม็ดเลือดและเซลล์ต่าง ๆ โฟเลตเกี่ยวข้องโดยตรงกับโครงสร้างของเซลล์ จึงทำให้มีการเสริมโฟเลตในอาหารประเภทนมและมีการโฆษณาในกลุ่มเป้าหมายคือหญิงตั้งครรภ์ นอกจากนี้ผู้ที่เป็นตับแข็งก็ต้องการโฟเลตเพิ่มมากขึ้นกว่าคนปกติ อาหารที่มีโฟเลตสูง ได้แก่ ตับ (30-50 ไมโครกรัม) ผักใบเขียว (9 ไมโครกรัม) และน้ำส้มคั้นที่คั้นแล้วดื่มทันที (50-100 ไมโครกรัม) เป็นต้น
ไนอะซิน ร่างกายต้องการวันละ 20 มิลลิกรัม คนที่เสี่ยงต่อการขาดไนอะซินคือคนที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำและกินอาหารไม่ครบถ้วน อาการของโรคคือรู้สึกแสบร้อนรอบปาก เบื่ออาหาร อาหารไม่ย่อย อ่อนเพลีย น้ำหนักลด ปวดศีรษะ หากเป็นมาก ๆ จะมีอาการทางประสาท ซึมเศร้า นอนไม่หลับ ผิวหนังเมื่อถูกแดดจะแสบร้อน ปลายและขอบลิ้นบวมแดง อาหารที่มีไนอะซินมาก ได้แก่ เนื้อวัว (6.7 มิลลิกรัม) ตับวัว (12.8 มิลลิกรัม) เนื้อเป็ด (11.7 มิลลิกรัม) รำข้าว (29.8 มิลลิกรัม) ใบกระถิน (5.4 มิลลิกรัม) ใบตำลึง (3.8 มิลลิกรัม) เห็ด (4.9 มิลลิกรัม) เนื้อไก่ (8.0 มิลลิกรัม) เป็นต้น
วิตามินซี เป็นวิตามินที่รู้จักกันดี มีมากในผักและผลไม้สด ในแต่ละวันร่างกายของเราต้องการประมาณ 60 มิลลิกรัม หากเป็นผู้ที่สูบบุหรี่ประจำร่างกายจะต้องการวิตามินซีเพิ่มขึ้นอีก 40 เปอร์เซ็นต์ หน้าที่สำคัญของวิตามินซีคือป้องกันการทำลายเซลล์ต่างๆ ช่วยสังเคราะห์สารต่าง ๆ เช่น สร้างฮอร์โมน เยื่อบุหลอดเลือดต่างๆ ช่วยดูดซึมธาตุเหล็กในกระเพาะอาหารและลำไส้ คนที่ขาดวิตามินซีจึงมักมีอาการปรากฏตามบริเวณต่าง ๆ ที่มีหลอดเลือดมาหล่อเลี้ยงมากๆ เช่น ไรฟัน ทำให้เกิดโรคเลือดออกตามไรฟันหรือลักปิดลักเปิด หากเกิดบริเวณเยื่อกระดูกก็จะทำให้ปวดกระดูก อาหารที่มีวิตามินซีสูง ได้แก่ ฝรั่ง (160 มิลลิกรัม) มะขามเทศ (133 มิลลิกรัม) มะละกอสุก (73 มิลลิกรัม) มะม่วงดิบ (62 มิลลิกรัม) กะหล่ำดอก (72 มิลลิกรัม) ใบตำลึง (48 มิลลิกรัม) ดอกโสน (51 มิลลิกรัม) ใบคะน้า (140 มิลลิกรัม) มะเขือเทศสุก (23 มิลลิกรัม) เป็นต้น
รายละเอียดของวิตามินบีรวมและวิตามินซีที่กล่าวถึงข้างต้นเป็นวิตามินที่มีคุณสมบัติละลายในน้ำ ดังนั้นการล้าง การปรุง หรือเตรียมอาหารทิ้งไว้เป็นระยะเวลานานจะทำให้วิตามินกลุ่มนี้สลายไปเรื่อย ๆ จึงควรระวังในเรื่องนี้ด้วย ตัวอย่างเช่นหากจะหุงข้าวแล้วเกรงว่าข้าวสารจะสกปรก จึงซาวข้าวหลายๆ ครั้ง การทำเช่นนี้ก็สูญเสียวิตามินบีไปแล้ว หรือปอกผลไม้ทิ้งไว้ไม่กินทันที หรือคั้นน้ำส้มทิ้งไว้ในตู้เย็นหรือทิ้งไว้ในอุณหภูมิห้องก็ตาม วิตามินซีก็จะสูญเสียไปได้ ดังนั้นเพื่อให้ได้วิตามินครบถ้วนจึงควรให้ความสำคัญกับทุกขั้นตอนในการเตรียมและปรุงอาหาร ทั้งนี้ก็เพื่อให้ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากอาหารที่เรากินนั่นเอง
นอกจากการกินให้ครบถ้วนและเพียงพอแล้ว ในปัจจุบันผู้คนยังให้ความสนใจในการนำวิตามินมาใช้เป็นยากันมาก ตัวอย่างเช่นการแนะนำให้กินวิตามินซีในปริมาณสูง ๆ ในรูปของเม็ดยา เช่น 100 มิลลิกรัมขึ้นไปเพื่อป้องกันโรคหวัด โรคมะเร็ง หรือช่วยให้ผิวหนังชุ่มชื่นสดใส ทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีรายงานทางวิทยาศาสตร์ที่แน่ชัดยืนยัน ในทางกลับกันมีรายงานวิจัยรายงานว่าการกินวิตามินซีสูง ๆ ดังกล่าวติดต่อกันนาน ๆ จะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคนิ่วในไต อุจจาระร่วง ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กมากเกินไป ดังนั้นขอแนะนำให้กินผักผลไม้สดเป็นประจำจึงจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่จะทำให้ได้รับวิตามินซีอย่างเพียงพอและไม่มีผลเสียต่อสุขภาพ ทั้งนี้หากต้องการกินในรูปของน้ำผักหรือน้ำผลไม้เพื่อให้ได้รับวิตามินซีต้องดื่มทันทีที่คั้นเสร็จ มิฉะนั้นวิตามินซีจะสลายสูญเสียไป
สำหรับวิตามินบีพบว่ามีภาวะการขาดค่อนข้างน้อย เพราะเมืองไทยของเรามีอาหารที่ให้วิตามินบีมากมาย หากกินอย่างหลากหลายก็มักไม่พบปัญหาดังกล่าว นอกจากนี้ถ้ากินมากไป (กินอาหารจากธรรมชาติ) ร่างกายจะไม่สะสมให้เกิดผลข้างเคียงต่อสุขภาพ เนื่องจากวิตามินกลุ่มนี้มีคุณสมบัติละลายในน้ำ เมื่อได้รับมากเกินไปร่างกายก็จะขับออกเองได้ จึงไม่ควรกังวลกับการได้รับวิตามินบี ยกเว้นจากการได้รับในรูปของเม็ดยาปริมาณสูงเกินปกติมาก ๆ อีกทั้งกินติดต่อกันเป็นประจำจนร่างกายขับทิ้งไม่ทันก็เกิดผลกระทบต่อสุขภาพได้ คือหากได้รับไนอะซินมากเกินไปจะทำให้เกดผื่นคันตามผิวหนังและท้องร่วงได้ การได้รับโฟลิกสูงเกินไปจะทำให้นอนไม่หลับ ลำไส้ไม่ปกติ
สำหรับกลุ่มวิตามินที่ละลายในไขมันจะนำมาเสนอในฉบับต่อไป
วิตามิน...กินให้เป็น (ตอนที่ 2)
เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าวิตามินมีบทบาทสำคัญต่อสุขภาพ คือเป็นตัวช่วยให้อวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายสามารถทำงานได้ตามปกติ ซึ่งแหล่งสำคัญของวิตามินก็คืออาหารที่เรากินเป็นประจำนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นอาหารประเภทเนื้อสัตว์ นม ไข่ และถั่วเมล็ดแห้ง อาหารประเภทข้าว แป้ง ไขมัน รวมทั้งอาหารประเภทผักและผลไม้ และจากที่คนเราอยู่ในภาวะเศรษฐกิจที่เร่งรีบ จึงให้เวลาสำหรับเรื่องอาหารการกินน้อยลง บริโภคนิสัยเปลี่ยนไป ประกอบกับมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแพร่เข้ามาในสังคมไทย ทั้งผ่านสื่อต่าง ๆ และการขายตรง ทำให้คนจำนวนไม่น้อย เห็นเป็นทางลัดที่จะช่วยทำให้สุขภาพดีแทนที่จะเลือกกินอาหารที่ถูกต้องและออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ซึ่งคอลัมน์ Nutrition เมื่อฉบับที่แล้วได้นำเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับวิตามินประเภทที่ละลายในน้ำ รวมถึงแหล่งอาหารที่มีวิตามินสูง ประโยชน์ที่จะได้รับ ตลอดจนผลข้างเคียงที่จะก่อให้เกิดอันตรายหากบริโภคมากเกินไป ซึ่งอันตรายเหล่านั้นจะไม่เกิดขึ้นหากบริโภคในรูปของอาหาร แต่ถ้าบริโภคในรูปของเม็ดยา หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารก็อาจก่อให้เกิดผลเสียได้ แม้ร่างกายจะสามารถขับวิตามิน ที่ละลายในน้ำออกได้ง่ายกว่า วิตามินที่ละลายในไขมันก็ตาม ในฉบับนี้จึงขอนำรายละเอียดของวิตามินที่ละลายในไขมันเสนอต่อจากตอนที่แล้ว
วิตามินชนิดที่ละลายในไขมัน
เป็นวิตามินที่ต้องมีไขมันเป็นตัวนำหรือตัวพาไป ร่างกายจึงจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ วิตามินชนิดนี้ ได้แก่ วิตามินเอ วิตามินดี วิตามินอี และวิตามินเค
วิตามินเอ เป็นวิตามินที่ทำหน้าที่ปกป้องเยื่อบุต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น เยื่อบุลำไส้ เยื่อบุทางเดินหายใจ เป็นต้น เมื่อขาดวิตามินเอ เยื่อบุต่างๆ จะเหี่ยวฝ่อ ทำให้เชื้อโรคเข้าสู่อวัยวะต่าง ๆ ได้ง่าย ซึ่งวิตามินเอจะช่วยให้ระบบภูมิต้านทานแข็งแรง และยังช่วยให้สามารถมองเห็นในที่มืดได้ดี ถ้าขาดวิตามินเอจะทำให้การปรับตัวของตาในที่มืดไม่ดี คนสมัยก่อนเรียกอาการดังกล่าวว่า “ตามัวตาฟาง” และวิตามินเอยังมีบทบาทช่วยในการเจริญเติบโตของอวัยวะต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกล้ามเนื้อ กระดูก สมอง และอื่นๆ นอกจากนี้ยังพบว่าวิตามินเอเป็นสารต้านอนุมูลอิสระอีกด้วย ซึ่งการขาดวิตามินเอทำให้ภูมิต้านทานอ่อนแอ มองเห็นไม่ดีในเวลากลางคืน ติดเชื้อง่าย และในเด็กเล็กหากขาดวิตามินเออย่างรุนแรงจะทำให้เสียชีวิตได้ ในทางตรงกันข้าม หากได้รับในปริมาณมากเกินไปจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ เวียนศีรษะ ผิวแห้ง ผมร่วง ถ้าเป็นในเด็กจะทำให้ปวดกระดูก สำหรับหญิงมีครรภ์ถ้าได้รับวิตามินเอมากเกินไปจะทำให้แท้งได้
เมื่อรู้จักวิตามินเอก็ต้องรู้จักเบตา-แคโรทีนควบคู่ไปด้วย เพราะเบตา-แคโรทีนคือสารตั้งต้นของวิตามินเอ เมื่อกินอาหารที่มีเบตา-แคโรทีน ร่างกายของเราจะเปลี่ยนเบตา-แคโรทีนให้เป็นวิตามินเอได้ ในแต่ละวันร่างกายต้องการวิตามินเอ 800 ไมโครกรัม อาร์อี หรือ 2,664 หน่วยสากล หากเป็นเบตา-แคโรทีนจะเท่ากับ 4,800 ไมโครกรัม (จากเอกสาร “สารอาหารที่แนะนำให้บริโภคประจำวันสำหรับคนไทยอายุ 6 ปีขึ้นไป” จัดทำโดยคณะอนุกรรมการพิจารณาการแสดงคุณค่าทางโภชนาการบนฉลากของอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข)
อาหารที่ให้วิตามินเอสูง ได้แก่ ตับสัตว์ทุกชนิด เครื่องในสัตว์ ไข่ นม เป็นต้น ส่วนเบตา-แคโรทีนพบมากในพืชผักผลไม้สีเหลืองและสีส้มแดง เช่น มะละกอ แครอต ผักหวาน ผักชีฝรั่ง ตำลึง ฟักทอง ผักกระเฉด ใบชะพลู มะเขือเทศ ผักบุ้ง คะน้า เป็นต้น
การกินอาหารที่กล่าวมาข้างต้นจะช่วยให้ได้รับวิตามินเอหรือเบตา-แคโรทีน โดยควรกินควบคู่กับอาหารที่มีไขมันด้วย จะช่วยให้ร่างกายสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ดี ซึ่งการกินอาหารธรรมชาติดังกล่าวนี้จะไม่ทำให้ได้รับวิตามินเอมากเกินความต้องการของร่างกาย แต่หากกินในรูปของเม็ดยาหรือในรูปของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอาจทำให้ได้รับในปริมาณมากเกินไป และวิตามินชนิดนี้ถ้าร่างกายใช้ไม่หมดก็จะสะสมไว้ในร่างกาย ไม่สามารถขับทิ้งได้ง่ายเหมือนวิตามินที่ละลายในน้ำ นอกจากนี้ในต่างประเทศมีรายงานว่าพบผู้ที่กินเบตา-แคโรทีนในรูปของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเป็นมะเร็งที่ปอดด้วย
วิตามินดี เป็นวิตามินที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการสร้างกระดูก การดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัสไปใช้ในร่างกาย จึงช่วยให้กระดูกและฟันแข็งแรง ในแต่ละวันร่างกายต้องการวิตามินดีเพียง 5 ไมโครกรัม หรือ 200 หน่วยสากล ซึ่งนับว่าต้องการในปริมาณที่น้อยมาก และร่างกายของคนเรายังสามารถสังเคราะห์วิตามินดีได้เองจากแสงแดดอ่อน ๆ คนไทยเราโชคดีที่บ้านเรามีแสงแดดมาก จึงไม่ต้องกังวลว่าจะขาดวิตามินดี ยกเว้นในคนที่ไม่ได้รับหรือไม่ถูกแสงแดดเลย ซึ่งก็เป็นไปได้ยาก เพราะนอกจากร่างกายจะสังเคราะห์วิตามินดีได้จากแสงแดดแล้ว ในอาหารที่เรากินกัน เช่น ไข่แดง นม ปลาที่มีไขมัน ตลอดจนธัญพืช ก็มีวิตามินดีอยู่มาก คนไทยจึงไม่ควรกังวลว่าจะขาดวิตามินดีเหมือนชาติตะวันตกที่ประเทศเขาไม่ค่อยมีแสงแดด นอกจากนี้การได้รับวิตามินดีสูงเกินไปอาจทำให้มีแคลเซียมตกตะกอนเป็นหินปูนเกาะอยู่ที่ไต (นิ่วในไต) ได้
วิตามินอี เป็นวิตามินอีกชนิดหนึ่งที่มีคนให้ความสนใจค่อนข้างมาก มีหน้าที่สำคัญคือช่วยให้เยื่อบุและเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกายทำงานได้ดีขึ้น เพราะวิตามินอีจะทำให้ผนังเซลล์ทนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมได้ดี ในแต่ละวันร่างกายต้องการวิตามินอีเพียง 10 มิลลิกรัม อัลฟา ที อี หรือ 15 หน่วยสากล ซึ่งเป็นปริมาณที่น้อยมาก แต่ก็ขาดไม่ได้ เพราะถ้าขาดจะทำให้เกิดอาการผิดปกติของอวัยวะสืบพันธุ์ ระบบประสาท และการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด ในทางกลับกัน หากได้รับมากเกินไป 30- 200 เท่าของปริมาณที่แนะนำ และกินติดต่อกันเป็นเวลานานๆ จะทำให้มีอาการเริ่มตั้งแต่ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ ซึม จนกระทั่งริมฝีปากอักเสบ และกล้ามเนื้อไม่มีแรง นอกจากนี้ยังมีรายงานการวิจัยพบว่าการกินวิตามินอีในปริมาณสูงกว่าที่แนะนำทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นอัมพาตได้ ซึ่งการได้รับวิตามินอีในปริมาณสูงๆ นั้นจะเกิดขึ้นได้จากการกินในรูปของเม็ดยา เพราะหากได้รับจากอาหารจะไม่ทำให้ร่างกายได้รับวิตามินอีมากเกินไปจนเกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพ
อาหารที่มีวิตามินอีสูงคือน้ำมันพืชต่าง ๆ เช่น น้ำมันจากจมูกข้าวสาลี น้ำมันเมล็ดดอกทานตะวัน น้ำมันจากเมล็ดฝ้าย น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด เป็นต้น ดังนั้นหากใช้น้ำมันพืชดังกล่าวปรุงอาหารเป็นประจำก็ไม่ต้องกังวลว่าจะขาดวิตามินอี นอกจากนี้ในท้องตลาดปัจจุบันยังพบว่ามีการเสริมวิตามินอีในน้ำมันปาล์มด้วย
วิตามินอีได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ในปัจจุบันนอกจากจะพบว่ามีการเสริมวิตามินอีในอาหารหรือผลิตออกจำหน่ายในรูปเม็ดยาแล้ว ยังมีการเสริมวิตามินอีลงในผลิตภัณฑ์บำรุงผิวต่าง ๆ อีกด้วย ซึ่งจริง ๆ แล้วแทบไม่พบปัญหาการขาดวิตามินอีในคนไทย ยกเว้นในคนที่มีลำไส้ผิดปกติในการดูดซึมซึ่งไม่สามารถดูดซึมไขมันได้ จะทำให้ร่างกายไม่สามารถดูดซึมวิตามินอีไปใช้ได้ เพราะวิตามินอีเป็นวิตามินชนิดละลายในไขมัน นอกจากนี้อาจพบได้ในทารกที่คลอดก่อนกำหนด เนื่องจากร่างกายทารกยังมีการสะสมวิตามินอีได้น้อย ดังนั้นคนปกติทั่วไปจึงไม่ควรกังวลว่าจะขาดวิตามินอี และถ้าคิดจะซื้อวิตามินอีในรูปของเม็ดยามากินควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง
วิตามินเค เป็นวิตามินที่มีคนรู้จักและกล่าวถึงน้อยกว่าวิตามินชนิดอื่นที่กล่าวมา มีหน้าที่สำคัญคือช่วยทำให้เลือดแข็งตัว และช่วยสร้างโปรตีนชนิดที่มีหน้าที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก ในแต่ละวันร่างกายต้องการวิตามินเคเพียง 80 ไมโครกรัม ซึ่งนอกจากอาหารประเภทใบเขียวเข้ม เช่น คะน้า ผักโขม ที่มีวิตามินเคแล้ว ยังพบได้ในตับสัตว์และเนย รวมทั้งแบคทีเรียที่อยู่ในลำไส้ของคนเรายังสามารถสังเคราะห์วิตามินเคได้อีกด้วย ดังนั้นจึงไม่ควรกังวลว่าจะขาดวิตามินเค ยกเว้นในกลุ่มคนบางกลุ่ม เช่น ทารกที่คลอดก่อนกำหนด ร่างกายยังสะสมวิตามินเคได้น้อย เมื่อคลอดออกมาแพทย์ก็จะฉีดวิตามินเคให้ คุณพ่อคุณแม่ที่มีทารกคลอดก่อนกำหนดจึงไม่ต้องวิตกว่าลูกของตนจะขาดวิตามินเค และผู้ที่จะมีปัญหาอีกกลุ่มคือผู้ป่วยที่มีความผิดปกติในการดูดซึมไขมัน จึงทำให้ไม่สามารถดูดซึมวิตามินเคได้ เนื่องจากวิตามินเคเป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน จึงต้องมีไขมันเป็นตัวนำเพื่อให้ร่างกายสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ เมื่อร่างกายมีปัญหาการดูดซึมไขมันจึงดูดซึมวิตามินเคไม่ได้ ส่งผลให้ขาดวิตามินเค นอกจากนี้ยังมีกลุ่มคน ที่ควรจะได้รับวิตามินเคมากกว่าคนปกติทั่วไป เพราะเสี่ยงต่อการขาดวิตามินเค คือผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ผู้ที่เป็นโรคตับ ได้แก่ ดีซ่าน ตับแข็ง ซึ่งควรได้รับวิตามินเคมากกว่าคนทั่วไป
อย่างไรก็ตาม โปรดจำไว้ว่า “สุขภาพดีหาซื้อไม่ได้ด้วยเงิน”
ที่มา :
http://www.gourmetthai.com
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)ฝ่ายเทคโนโลยีอาหาร
35 เทคโนธานี คลองห้า ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 10120
โทร.: (662) 577-9000, 577-9155-56
โทรสาร : (662) 577-9128, 577-9009
E-mail :
w_sorada@yahoo.com
ดาวิกา
,
ป้าเขียว
,
Pirayuth
,
กระต่าย
สมาชิกใหม่ทุกท่าน >>> กดที่นี่
ท่านเป็นเช่นนี้หรือไม่ ? 1 login ... เข้าเวป 2 หาเพลงโหลด 3 มีให้โหลด ตอบเพื่อโหลด ไม่มีให้โหลด ไปข้อ4 4 logout ... ไปดีกว่า
อา-ราย-หว่า ???
บันทึกการเข้า
หน้า: [
1
]
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
กระโดดไป:
เลือกหัวข้อ:
-----------------------------
ห้องฟังเพลง
-----------------------------
=> ห้องฟังเพลง
===> ฟังเพลงจากแผ่นครั่ง
===> ฟังเพลงเก่า(ลูกกรุง)
===> ฟังเพลงเก่า(ลูกทุ่ง)
===> ฟังเพลงเก่า(ลูกทุ่ง+ลูกกรุง)
===> ฟังเพลงลูกทุ่งลูกกรุงใหม่ๆ หรือเก่าดนตรีใหม่
===> ฟังเพลงนานาชาติ (เก่ามาก - ปี 1960)
===> ฟังเพลงนานาชาติ (ปี 1961-1990)
===> ฟังเพลงนานาชาติ (ปี 1991-ปัจจุบัน)
===> ฟังเพลงบรรเลง
===> ฟังเพลงเพื่อชีวิต
===> ฟังเพลงไทยสากล(สตริง)
===> ฟังเพลงพื้นบ้าน
===> MV
===> ฟังเพลงจากสมาชิกขับร้อง
=====> preem
=====> หมื่นกระบี่ไร้พ่าย
=====> lakkana
=====> J.R.
=====> ดาวิกา
=====> nirutboon
=====> เมธา
=====> ป๋องศักดิ์
=====> petcharat
=====> sonka
=====> ป้าเขียว
-----------------------------
ห้องทั่วไป
-----------------------------
=> แวดวงบันเทิง
=> เรื่อง/ภาพ ทั่วไป
=> เรื่องเล่า/ภาพ ขำขำ
=> เรื่องเล่าอื่นๆ
=> เรื่องของศิลปะ/ภาพจิตรกรรม/ประติมากรรม
-----------------------------
ห้องธรรมะ
-----------------------------
=> ธรรมะและพระสูตร
=> นิทานบันเทิงธรรม
-----------------------------
Health Advice (สุขภาพ)
-----------------------------
=> พลานามัย
=> รักษาตัวให้ห่างจากโรคร้าย
=> โภชนาการ
-----------------------------
บันทึกประวัติศาสตร์
-----------------------------
=> ถาม-ตอบ เรื่องชื่อเพลง+ชื่อนักร้อง
===> ชื่อเพลง+ชื่อนักร้อง ได้รับคำตอบแล้ว
=> เรื่องของบทเพลง (ไทย)
=> เรื่องของบทเพลง (เพลงไทยเดิม)
=> เรื่องของบทเพลง (สากล)
=> ผลงานเพลงของนักร้องแต่ละท่าน
=> ประวัติของนักร้องลูกทุ่ง-ลูกกรุง
=> ประวัติของนักร้อง ศิลปินสากล
=> ประวัติของนักแต่งเพลง และ นักปั้นมือทอง
=> รูปภาพนักร้อง+นักแต่งเพลง+นักแสดง
=> ภาพปกแผ่นเสียง
-----------------------------
คอมพิวเตอร์
-----------------------------
=> ถาม-ตอบ ปัญหาคอม
=> เทคนิคและเครื่องเสียง
-----------------------------
เว็บไซด์เพื่อนบ้าน
-----------------------------
=> เว็บไซด์เพื่อนบ้าน
Your browser does not support iframes.
Saisampan.net
สายสัมพันธ์ - เพลงลูกทุ่งเก่า (เก่ากว่าที่ท่านคิด)
กำลังโหลด...