เพลงราตรีประดับดาวเป็นเพลงเถา (เพลงเถาเป็นเพลงชุดทำนองเดียวกันแต่มีอัตราจังหวะ ๓ ชั้น ๒ ชั้น และชั้นเดียว บรรเลงตามลำดับ) พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงพระราชนิพนธ์เพลงราตรีประดับดาว (เถา) ไว้เป็นเพลงแรกในผลงานการทรงแต่งเพลงไทยเดิมของพระองค์ โดยทรงแต่งขยายและตัดทอนเพลงราตรีประดับดาว (เถา) มาจากเพลงมอญดูดาว ๒ ชั้น ซึ่งเป็นเพลงเก่าที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ
วิธีการแต่งเพลงเถาโดยขยายและตัดทอนมาจากเพลงเก่าอัตราจังหวะ ๒ ชั้น นิยมทำกันโดยทั่วไป แต่การทรงแต่งเพลงราตรีประดับดาว (เถา) ของรัชกาลที่ ๗ มีความแตกต่างออกไปจากวิธีปกติ คือ
๑. ทรงขยายทำนองเพลงมอญดูดาว ๒ ชั้น จากเดิมที่มีทำนองยาว ๔๔ ห้องเพลง เป็นเพลงราตรีประดับดาว ๒ ชั้นที่มีทำนองยาว ๔๘ ห้องเพลงก่อน
๒. ทรงเปลี่ยนหน้าทับจากเดิมที่ใช้หน้าทับสองไม้หรือหน้าทับมอญ เป็นหน้าทับปรบไก่ (จังหวะหน้าทับของเพลงไทยเดิมก็เหมือนกับจังหวะกลองของเพลงไทยสากลที่มีจังหวะโบเลโร่ ช่ะช่ะช่า กัวลาช่า เป็นต้น โดยจังหวะหน้าทับเพลงไทยเดิมที่ใช้กันมากได้แก่ หน้าทับปรบไก่ หน้าทับสองไม้ และหน้าทับออกภาษาเช่น สองไม้ลาว มอญ เขมร พม่า จีน ฝรั่ง เป็นต้น ซึ่งใช้เมื่อเล่นเพลงสำเนียงภาษาเหล่านั้น)
๓. ทรงขยายเพลงราตรีประดับดาว ๒ ชั้น ที่มี ๔๘ ห้องเพลง เป็นเพลงราตรีประดับดาว ๓ ชั้น เที่ยว ๑ จำนวน ๙๖ ห้องเพลง และเที่ยว ๒ อีก ๙๖ ห้องเพลง (จะเห็นว่าขยายขึ้น ๒ เท่าจากอัตรา ๒ ชั้น)
๔. ทรงตัดทอนเพลงราตรีประดับดาว ๒ ชั้น ซึ่งมี ๔๘ ห้องเพลง เป็นเพลงราตรีประดับดาวชั้นเดียว ๒๔ ห้องเพลง (จะเห็นว่าความยาวของเพลงลดลงครึ่งหนึ่งจากอัตรา ๒ ชั้น)
๕. ทรงแต่งเนื้อร้องขึ้นใหม่โดยมิได้นำเอากลอนไพเราะในวรรณคดีไทยมาเป็นเนื้อร้องเหมือนกับเพลงเถาส่วนใหญ่
เนื้อร้องเพลงราตรีประดับดาว (เถา)
สามชั้น
“วันนี้ แสนสุดยินดี พระจันทร์วันเพ็ญ (วันนี้ แสนสุดยินดี พระจันทร์วันเพ็ญ) ขอเชิญสายใจ เจ้าไปเที่ยวเล่น ลมพัดเย็นเย็น หอมกลิ่นมาลีเอย หอมดอกราตรี แม้ไม่สดสี หอมดีน่าดม เหมือนงามน้ำใจ แม้ไม่ขำคม กิริยาน่าชม สมใจจริงเอย
ชมแต่ดวงเดือน ที่ไหนจะเหมือน ได้ชมหน้าน้อง (ชมแต่ดวงเดือน ที่ไหนจะเหมือน ได้ชมหน้าน้อง) พี่อยู่แดเดียว เปลี่ยวใจหม่นหมอง เจ้าอย่าขุ่นข้อง จงได้เมตตาเอย หอมดอกชมนาด สีไม่ฉูดฉาด แต่หอมยวนใจ เหมือนน้ำใจดี ปรานีปราศรัย ผูกจิตสนิทได้ ให้รักจริงเอย” สองชั้น
“ขอเชิญเจ้าฟังเพลงวังเวงใจ เพลงของท่านแต่งใหม่ในวังหลวง หอมดอกแก้วยามเย็น ไม่เห็นใจพี่เสียเลยเอย
ดวงจันทร์หลั่นลดเกือบหมดดวง โอ้หนาวทรวงยอดชีวาไม่ปรานี หอมมะลิกลีบซ้อน อ้อนวอนเจ้าไม่ฟังเอย” ชั้นเดียว
“จวนจะรุ่งแล้วนะเจ้าพี่ขอลา แสงทองส่องฟ้าสง่าศรี หอมดอกกระดังงา ชิชะช่างน่าเจ็บใจจริงเอย
หมู่ภมรร่อนหาช่อมาลี แต่ตัวพี่จำจากพรากไปไกล หอมดอกจำปี
นี่แน่พรุ่งนี้จะกลับมาเอย” เมื่อนำเพลงราตรีประดับดาวทั้ง ๓ อัตราจังหวะมาเล่นต่อกันจึงเป็นเพลงราตรีประดับดาว (เถา)
เพลงราตรีประดับดาว (เถา) มีความไพเราะน่าฟัง อัตราจังหวะ ๓ ชั้นแม้จะยาว แต่ผู้ฟังเข้าถึงได้ไม่ยาก ไม่เหมือนกับเพลง ๓ ชั้นทั่ว ๆ ไปที่คนส่วนใหญ่เข้าไม่ถึง (เพลงไทยเดิมอัตราจังหวะ ๓ ชั้นที่คนส่วนใหญ่เข้าถึง ฟังได้และชื่นชอบ มีไม่กี่เพลง เช่น เพลงราตรีประดับดาว ๓ ชั้น เพลงแขกต่อยหม้อ ๓ ชั้น เพลงเขมรไทรโยค ๓ ชั้น เป็นต้น)
ทดลองฟังเพลงราตรีประดับดาว (เถา) เฉพาะดนตรีจากวงมโหรี
แสดงความคิดเห็นหน่อยค่ะ ทดลองฟังเพลงราตรีประดับดาว (เถา) แบบร้องส่งมโหรี
แสดงความคิดเห็นหน่อยค่ะ ทดลองฟังดวงพร พงษ์ผาสุข ร้องเพลงราตรีประดับดาว ๓ ชั้น
แสดงความคิดเห็นหน่อยค่ะ เพลงราตรีประดับดาว ๓ ชั้นมีความไพเราะในท่วงทำนองมาก จึงมีการนำทำนองไปดัดแปลงเป็นเพลงไทยสากลหลายเพลง
หมายเหตุ ลิงค์เพลงที่เชื่อมโยงไว้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ท่านที่สนใจได้ฟังเพลงตามบันทึกเพื่อการศึกษาเรียนรู้เท่านั้น หากมีปัญหาเกี่ยวกับลิขสิทธิ์โปรดแจ้งเว็บมาสเตอร์ของเว็บที่ลิงค์