ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?


เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ธันวาคม 23, 2024, 03:04:07 am

 


  หน้าแรก  • ช่วยเหลือ  • ค้นหา  • เข้าสู่ระบบ  • สมัครสมาชิก



สถานีวิทยุออนไลน์
สายสัมพันธ์





ท่านสามารถขอเพลงฟังได้
ที่กล่องขอเพลงด้านซ้ายมือ
แต่อาจไม่ได้รับฟังทุกเพลง
เนื่องจากจะรองรับเพลงตามขอ
ของสมาชิกภายในก่อน
หน้า: [1]
 
ผู้เขียน หัวข้อ: เพลงไทยเดิมทำไมชื่อต่างชาติ  (อ่าน 18730 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
woraphon
Moderator
*

คำขอบคุณ: 3715
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 1115
สมาชิก ID: 1760


Level and Hp mod by the DtTvB :: version 1.02 :: Made for Zone-IT.com Level 27 : Exp 12%
HP: 0.2%


« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 29, 2012, 04:36:37 pm »

 

ตอนที่ ๑

มีคนไทยและคนต่างชาติจำนวนมากข้องใจว่าเพลงไทยเดิมแท้ ๆ ทำไมมีชื่อต่างชาติผสมอยู่ เช่น จีนขิมเล็ก เชิดจีน ขอมทรงเครื่อง เขมรพายเรือ พม่าแปลง มอญดูดาว ทยอยญวน ยวนเคล้า แขกหนัง แขกมอญบางขุนพรหม ฝรั่งรำเท้า ญี่ปุ่นฉะอ้อน ฯลฯ เพลงเหล่านี้เป็นเพลงไทยเดิมแท้ ๆ หรือเปล่า หรือเป็นเพลงของต่างชาติที่เราลอกเขามา แล้วเพลงไทยจริง ๆ มีสักกี่เพลงกันแน่ เพราะที่คุ้นชื่อล้วนมีชื่อต่างชาติเป็นส่วนใหญ่

เพื่อเป็นการอธิบายในข้อเคลือบแคลงสงสัยนี้ ผมจะลองวิเคราะห์และนำเสนอดู และขอเชิญชวนทุกท่านช่วยกันวิพากษ์แสดงความคิดเห็นเพื่อการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องเพลงไทยเดิมอันเป็นเอกลักษณ์หรืออัตลักษณ์ไทยที่เราควรภาคภูมิใจกันนะครับ

ประเด็นที่จะวิเคราะห์และนำเสนอมีดังนี้
๑. ที่มา เหตุผล ความจำเป็นที่เพลงไทยเดิมต้องมีชื่อต่างชาติผสมอยู่  
๒. เพลงไทยเดิมที่มีชื่อต่างชาติกับเพลงไทยเดิมแท้ ๆ มีมากน้อยเพียงใด
๓. ทำไมเพลงไทยเดิมที่มีชื่อต่างชาติผสมอยู่จึงเป็นที่รู้จักกันมากกว่าเพลงไทยเดิมแท้ ๆ

 
สมาชิกใหม่ทุกท่าน >>> กดที่นี่

ท่านเป็นเช่นนี้หรือไม่ ?
1 login ... เข้าเวป
2 หาเพลงโหลด
3 มีให้โหลด ตอบเพื่อโหลด ไม่มีให้โหลด ไปข้อ4
4 logout ... ไปดีกว่า
อา-ราย-หว่า ???

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 25, 2012, 07:30:12 pm โดย woraphon » บันทึกการเข้า

สวัสดีครับ ขอบคุณที่กรุณาอ่าน แสดงความคิดเห็น และตอบกระทู้ครับ
woraphon
Moderator
*

คำขอบคุณ: 3715
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 1115
สมาชิก ID: 1760


Level and Hp mod by the DtTvB :: version 1.02 :: Made for Zone-IT.com Level 27 : Exp 12%
HP: 0.2%


« ตอบ #1 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 29, 2012, 04:43:12 pm »

 

ตอนที่ ๒

ที่มา เหตุผล ความจำเป็นที่เพลงไทยเดิมต้องมีชื่อต่างชาติผสมอยู่  

ความต้องการจำเป็นในการมีเพลงสำเนียงชาติต่าง ๆ เกิดขึ้นเพราะเหตุผล ๓ ประการ ประการแรกคือ “การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมแขนงดนตรีกันระหว่างชนชาติ”

ชนชาติไทยในอดีตอยู่ร่วมกันกับชนชาติอื่นมาตลอด เช่น หากชนชาติไทยเคยอยู่บริเวณเมืองต้าหลี่ มณฑลยูนานปัจจุบัน (ซึ่งเคยเป็นอาณาจักรน่านเจ้าที่อนุมานว่าเป็นอาณาจักรของคนไทย) ที่นั่นมีชนเผ่าต่าง ๆ มากมาย เช่น ไป๋ หยี และที่แน่นอนก็คือชนชาติจีน (ฮั่น) ผู้พิชิตยูนาน จึงไม่แปลกที่ขิมไทยคล้ายขิมจีน ซอจีนกับซอไทยภาคเหนือคล้ายกันมาก

ก่อนชาวไทยจะตั้งอาณาจักรที่ดินแดนตอนกลางของแหลมสุวรรณภูมิ ราว พ.ศ. ๑๔๐๐ ชนชาติขอมเป็นขาใหญ่อยู่ที่นี่ ส่วนทางตะวันตกของสุวรรณภูมิ มอญกับพม่าแย่งกันเป็นใหญ่ พระเจ้าอโนรธามังช่อ (Anawrahta Minsaw พ.ศ. ๑๕๘๗-พ.ศ. ๑๖๒๐) ปฐมกษัตริย์พม่าแห่งราชวงศ์พุกามผู้ก่อตั้งอาณาจักรพุกามปราบมอญเสียราบคาบ มอญแตกฉานซ่านเซ็นมาทางตะวันออกก็มาก พม่ารุกเข้ามามีอิทธิพลในตอนกลางของสุวรรณภูมิแทนขอม ต่อมาขอมรุกกลับได้ดินแดนตอนกลางสุวรรณภูมิคืนอีก เมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๘๐๐ พ่อขุนบางกลางหาวและพ่อขุนผาเมือง ได้ร่วมกันยึดอำนาจจากขอมสบาดโขลญลำพงผู้ปกครองชาวขอมเป็นผลสำเร็จ สถาปนาอาณาจักรสุโขทัยขึ้นเป็นอาณาจักรของไทยแห่งแรกในตอนกลางของแหลมสุวรรณภูมิ
 
โดยข้อเท็จจริงแล้วแม้ขอมจะถูกขับไล่ไป แต่อิทธิพลทางวัฒนธรรมประเพณียังคงอยู่ ไทยคงรับเอาวัฒนธรรมประเพณีขอมไว้มากพอสมควร เพราะอักษรไทยที่เกิดขึ้นสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชนั้นก็ปรับปรุงมาจากภาษาขอมและภาษามอญโบราณ
 
ในสมัยหลัง ๆ การศึกสงครามระหว่างชนชาติต่าง ๆ ในดินแดนสุวรรณภูมิยังคงมีอยู่เป็นประจำ เวลาพม่ามาตีไทยก็กวาดต้อนคนไทยไปอยู่พม่า ไทยไปตีพม่าก็กวาดต้อนคนมอญ (ซึ่งถูกพม่าปราบเสียราบคาบ) มาอยู่เมืองไทย ไทยไปตีลาว เขมร ก็นำลาว เขมรมาอยู่ไทย จึงมีการถ่ายทอดแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ขนบ ธรรมเนียม ประเพณี ดนตรี ศิลปะ กันอยู่เป็นธรรมดา

ตามหลักการแล้ว เพลงใดที่นำเอาเพลงของชาติอื่นมาก็ต้องตั้งชื่อตามนั้น เช่น เพลงยาดเล้เป็นเพลงมอญ เมื่อดนตรีไทยนำเพลงยาดเล้มาบรรเลงในวงดนตรีไทย จึงเรียกว่าเพลงมอญยาดเล้ (ฟังตัวอย่างเพลงยาดเล้หรือมอญยาดเล้ได้ที่ แสดงความคิดเห็นหน่อยค่ะ  ซึ่งเพลงนี้ต่อมาดัดแปลงทำนองเป็นเพลงไทยสากล “รักเดียว” ขับร้องโดยเลิศ ประสมทรัพย์ – ชวลี ช่วงวิทย์)

พระประดิษฐ์ไพเราะ (มี ดุริยางกูร หรือครูมีแขก ครูดนตรีไทยซึ่งเกิดปลายรัชกาลที่ ๑ และถึงแก่กรรมสมัยรัชกาลที่ ๕) วันหนึ่งขณะเดินกลับจากสอนดนตรีในวังผ่านมาได้ยินชาวจีนเล่นมโหรีกันอยู่จึงช่วยกันกับลูกศิษย์จดจำทำนองไว้ พอมาถึงบ้านก็ได้นำเอาทำนองเพลงจีนที่จดจำมาเรียบเรียงประดิษฐ์ขึ้นมาเป็นเพลงชุดของเพลงจีน ๔ เพลงตั้งชื่อบ่งชี้ทำนองจีน คือ เพลงอาเฮีย และเพลงแป๊ะ ส่วนอีก ๒ เพลงคือเพลงภิรมย์สุรางค์ และเพลงชมสวน ทั้ง ๔ เพลงนี้เป็นเพลงไทยเดิมชื่อดังมาจนถึงปัจจุบัน (ถ้าใครรู้จักเพลง “ขอใจให้พี่”ที่สุเทพ วงศ์กำแหงร้อง (ฟังได้ที่ แสดงความคิดเห็นหน่อยค่ะ ) ก็ควรรู้จักเพลงอาเฮีย เพราะเพลงขอใจให้พี่ดัดแปลงทำนองไทยเดิม “อาเฮีย” นั่นเอง)

เมื่อหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง พ.ศ. ๒๔๒๔-๒๔๙๗) บรมครูดนตรีไทยไปชวา ท่านก็นำเอาอังกะลุงของชวามาเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงใช้บรรเลงในประเทศไทยเป็นคนแรก ท่านยังจำทำนองเพลงของชวามาปรับปรุงและตั้งชื่อว่าเพลง “ยะวา” เมื่อท่านตามเสด็จไปอินโดจีน ประมาณ พ.ศ.๒๔๗๓ ท่านได้นำเพลงเขมรมาปรับปรุงเป็นเพลงไทยหลายเพลงและตั้งชื่อบ่งชี้ว่าดั้งเดิมเป็นเพลงของชาติเขมร  เช่น เพลง "นกเขาขะแมร์" เพลง "ศรีโสภณ" เพลง "ซองซาประเค้ป" เพลง "เดรอว" เพลง "อังโกเลี้ยก" เป็นต้น ขณะเดียวกันท่านก็ช่วยสอนดนตรีไทยให้ชาวเขมรอยู่หลายเดือน ดนตรีเขมรก็คงได้เทคนิคดนตรีไทยไปเยอะเหมือนกัน (ฟังเพลงนกเขาขะแมร์ได้ที่ แสดงความคิดเห็นหน่อยค่ะ  เพลงนี้ต่อมาดัดแปลงทำนองเป็นเพลงลูกกรุงชื่อดัง “นกเขาคูรัก” )

 
สมาชิกใหม่ทุกท่าน >>> กดที่นี่

ท่านเป็นเช่นนี้หรือไม่ ?
1 login ... เข้าเวป
2 หาเพลงโหลด
3 มีให้โหลด ตอบเพื่อโหลด ไม่มีให้โหลด ไปข้อ4
4 logout ... ไปดีกว่า
อา-ราย-หว่า ???

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 19, 2013, 08:43:22 pm โดย woraphon » บันทึกการเข้า

สวัสดีครับ ขอบคุณที่กรุณาอ่าน แสดงความคิดเห็น และตอบกระทู้ครับ
woraphon
Moderator
*

คำขอบคุณ: 3715
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 1115
สมาชิก ID: 1760


Level and Hp mod by the DtTvB :: version 1.02 :: Made for Zone-IT.com Level 27 : Exp 12%
HP: 0.2%


« ตอบ #2 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 29, 2012, 04:50:37 pm »

 

ตอนที่ ๓

ความต้องการจำเป็นในการมีเพลงสำเนียงชาติต่าง ๆ เกิดขึ้นเพราะเหตุผลประการที่ ๒ คือ ความแปลก แตกต่าง ความใหม่ เพื่อให้เกิดการพัฒนา เพราะถ้าหยุดนิ่งไม่พัฒนา ไม่ช้าก็จะเกิดความเบื่อ เซ็ง เพราะซ้ำซาก จำเจ ดังนั้นนักดนตรีจึงต้องแต่งหรือประดิษฐ์เพลงใหม่ ๆ ขึ้นนำเสนอ ตัวอย่างเช่น ดนตรีไทยมีเพลงเชิดเป็นเพลงหน้าพาทย์ ใช้สำหรับประกอบการแสดงโขน ละคร ในโอกาสที่ตัวละครเดินทางไปมาอย่างรีบร้อน หรือประกอบกิริยาการเดินทางระยะไกล การต่อสู้ การยกทัพ หรือการยกทัพจับศึก แต่เดิมคงมีทำนองเดียว ต่อมาแตกแขนงเป็นเพลงเชิดเวอร์ชั่นต่าง ๆ เช่น

•   เพลงเชิดกลอง ใช้สำหรับประกอบการแสดงโขน ละคร ประกอบกิริยาเดินทางไกลของตัวละคร การยกทัพ การต่อสู้ ท่วงทำนองเพลงรุกเร้า ตื่นเต้น
•   เพลงเชิดฉาน ใช้สำหรับประกอบกิริยาไล่จับกันระหว่างตัวละคร เช่น ในบทบาทที่พระรามไล่ตามจับกวางทอง  
•   เพลงเชิดฉิ่ง ใช้สำหรับประกอบกิริยาไล่จับกันของตัวละคร การแผลงศร การค้นหาสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือในโอกาสที่ต้องการสร้างความใจจดใจจ่อแก่ผู้ชมการแสดง  
•   เพลงเชิดฉิ่งศุภลักษณ์ ใช้บรรเลงประกอบท่ารำในละครเรื่องอุณรุท
•   เพลงเชิดนอก ใช้ประกอบกิริยาต่อสู้การไล่จับกันของตัวละคร หรือสิ่งที่เกิดด้วยอภินิหารสำหรับการแสดงโขน โดยเฉพาะตัวละครประเภทอมนุษย์ สำเนียงของเพลงแสดงให้เห็นว่าเป็นการหลบลี้หนีซ่อนและโลดไล่ติดตามอย่างเร่งเร้า รุกรน  
•   เพลงเชิดใน เป็นเพลงที่ใช้บรรเลงเดี่ยวอวดฝีมือกันในวงปี่พาทย์

เมื่อมีความจำเป็นต้องมีเพลงเชิดให้เหมาะสมกับการเดินทางไปมาอย่างรีบร้อน หรือประกอบกิริยาการเดินทางระยะไกล การต่อสู้ การยกทัพ หรือการยกทัพจับศึกของชาติต่าง ๆ จึงเกิดเพลงเชิดมอญ สำหรับประกอบกิริยาเดินทาง การต่อสู้ ยกทัพของตัวละครสัญชาติมอญ  เชิดพม่า สำหรับประกอบกิริยาเดินทาง การต่อสู้ ยกทัพของตัวละครตามสัญชาติและใช้กับตัวละครชาติพม่า เชิดแขก สำหรับประกอบกิริยาเดินทาง การต่อสู้ยกทัพของตัวละครตามสัญชาติแขก เป็นต้น แต่เพลงในตระกูลเพลงเชิดที่มีประวัติน่าสนใจมากได้แก่เพลงเชิดจีน

เพลงเชิดจีนมิได้เป็นเพลงหน้าพาทย์ประกอบกิริยาเดินทาง การต่อสู้ ยกทัพของตัวละครตามสัญชาติและใช้กับตัวละครชาติจีน แต่เป็นเพลงอัตราจังหวะสามชั้นสำหรับการบรรเลงและขับร้อง หลวงประดิษฐไพเราะ (มี ดุริยางกูร : นามสกุลเพิ่งได้รับพระราชทานในภายหลัง) ได้แต่งถวายพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เพลงนี้มี ๔ ตัว (หรือ ๔ ท่อน) ตัวที่ ๑ แต่งจากเพลงเชิดสองชั้นตัวที่ ๖ โดยแต่งลีลาและทำนองให้กระฉับกระเฉง ตัวที่ ๒ และตัวที่ ๓ แต่งโดยมิได้ยึดเพลงใดเป็นหลัก ลักษณะของเพลงมุ่งที่อารมณ์สนุกสนาน ตัวที่ ๔ ผู้แต่งได้นำเพลงเร็วของเก่ามาขึ้นต้น ส่วนตรงกลางของตัวที่ ๔ ผู้แต่งโดยจินตนาการ เพลงเชิดจีนทั้ง ๔ ตัว จะต่อด้วยทำนองตอนท้ายของเพลงเชิดในชั้นเดียว

หลวงประดิษฐไพเราะ (มี ดุริยางกูร) เป็นที่รู้จักในนาม “ครูมีแขก” มีสมญาว่า “เจ้าแห่งเพลงทยอย” ท่านรับราชการเป็นครูปี่พาทย์ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงประดิษฐ์ไพเราะ เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๓๙๖ ตำแหน่งปลัดจางวางมหาดเล็กว่าราชการกรมปี่พาทย์ ฝ่ายพระบวรราชวัง (หรือวังหน้าในขณะนั้น) ท่านได้แต่งเพลงเชิดจีนถวายพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏว่าเป็นที่พอพระราชหฤทัยอย่างมาก ถึงกับพระราชทานเลื่อนบรรดาศักดิ์จากหลวงประดิษฐ์ไพเราะเป็นพระประดิษฐ์ไพเราะ เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๙๖ หลังจากที่ท่านได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นคุณหลวงได้เพียงเดือนเดียวเท่านั้น (เพื่อความเข้าใจง่าย ๆ ขอเปรียบเทียบกับตำแหน่งข้าราชการพลเรือนในปัจจุบัน บรรดาศักดิ์คุณหลวงประมาณเท่ากับตำแหน่งระดับเชี่ยวชาญซึ่งก็คือ ซี ๙ เดิม ส่วนบรรดาศักดิ์คุณพระเทียบเท่ากับระดับทรงคุณวุฒิหรือเชี่ยวชาญพิเศษ หรือ ซี ๑๐ เดิม ลองพิเคราะห์ดูว่าเพลงเชิดจีนยอดเยี่ยมขนาดไหนถึงได้รับการปูนบำเหน็จมากระดับนั้น ทดลองฟังเพลงเชิดจีนได้ที่ แสดงความคิดเห็นหน่อยค่ะ  

ที่น่าแปลกมากคือท่านตั้งชื่อเพลงว่า “เชิดจีน” ทั้ง ๆ ที่มิได้นำทำนองมาจากเพลงจีน และไม่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับวรรณคดีจีนใด ๆ เลย

 
สมาชิกใหม่ทุกท่าน >>> กดที่นี่

ท่านเป็นเช่นนี้หรือไม่ ?
1 login ... เข้าเวป
2 หาเพลงโหลด
3 มีให้โหลด ตอบเพื่อโหลด ไม่มีให้โหลด ไปข้อ4
4 logout ... ไปดีกว่า
อา-ราย-หว่า ???

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 25, 2012, 07:31:11 pm โดย woraphon » บันทึกการเข้า

สวัสดีครับ ขอบคุณที่กรุณาอ่าน แสดงความคิดเห็น และตอบกระทู้ครับ
woraphon
Moderator
*

คำขอบคุณ: 3715
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 1115
สมาชิก ID: 1760


Level and Hp mod by the DtTvB :: version 1.02 :: Made for Zone-IT.com Level 27 : Exp 12%
HP: 0.2%


« ตอบ #3 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 29, 2012, 04:54:19 pm »

 

ตอนที่ ๔

ความต้องการจำเป็นในการมีเพลงสำเนียงชาติต่าง ๆ เกิดขึ้นในวงการดนตรีไทยเดิม เพราะเหตุผลประการที่ ๓ คือ ความต้องการจำเป็นที่ต้องมีเพลงประกอบการแสดงละครที่นำมาจากวรรณคดีหรือเรื่องราวของชนชาติต่าง ๆ เพื่อให้ดนตรีสื่อให้ผู้ชมผู้ฟังทราบว่าตัวละครเป็นคนชาติไหน ทำให้ได้รสชาติอารมณ์ของการชมมากขึ้น

เมื่อหม่อมหลวงต่วนศรี วรวรรณ (พ.ศ. ๒๔๑๗-๒๕๑๗ พระชายาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์) รับผิดชอบแต่งเพลงประกอบละครของคณะละครหลวงนฤมิตร และคณะละครปรีดาลัย เช่นเรื่องพระลอ อาหรับราตรี สาวเครือฟ้า ตุ๊กตายอดรัก ขวดแก้วเจียระไน อีนากพระโขนง(พ.ศ. ๒๔๕๔) เรื่องพระเจ้าสีป๊อมินทร์ (พ.ศ. ๒๔๕๖) เป็นต้น ได้แต่งเพลงสำเนียงชาติต่าง ๆ ประกอบละครไว้เป็นจำนวนมาก

ตัวอย่างรายชื่อเพลงสำเนียงชาติต่าง ๆ ที่หม่อมหลวงต่วนศรี วรวรรณแต่ง
•   สำเนียงลาว เช่น ลาวเดินดง ลาวคำหอม ลาวสวยรวย ลาวเล่นน้ำ ยวนเคล้า
•   สำเนียงเขมร เช่น เขมรอมตึ๊ก เขมรพายเรือ เขมรไล่ควาย
•   สำเนียงมอญ เช่น มอญอ้อยอิ่ง
•   สำเนียงพม่า เช่น พม่าละห้อย พม่าละหม่า พม่าละแพ้ พม่าเย้ย พม่ายะโละ พม่ายะเซ้า พม่ายะซ้อ พม่ามุทะลุ พม่าหาม พม่าหวน พม่าไสยาสน์ พม่าสำออย พม่าสะทก พม่าสรวล พม่าวังเวง พม่าวอน พม่าฮึดฮัด พม่าอี๊ด พม่าอำนวย พม่าอาปู พม่าเหเฮ่ พม่าแพง พม่าเพรียว พม่าพิโรธ พม่าพ้อ พม่าพรัม พม่าเปลียว พม่าเปรม พม่าตรึก พม่าตลก พม่าตระหนก พม่าตงเคียด พม่าตงคิยก พม่าโซก พม่าแซง พม่าเซา พม่าซะมุ พม่าซอย พม่าฉุน พม่าใจเพชร พม่าคร้าน พม่าครึ้ม พม่าคะนึง พม่าแปลง พม่าประเทศ หรือ พม่าปเทศ ที่ดังสุดได้แก่เพลงพม่าแปลง ที่มีการนำทำนองมาดัดแปลงเป็นเพลงไทยสากลนับได้ขณะนี้ถึง ๒๔ เพลง และเพลงพม่าประเทศ ซึ่งเป็นเพลงบรรเลงที่ใช้เปิดนำเพื่อเทียบเวลาของประเทศไทยเมื่อเวลาก่อน ๘.๐๐ น. (ก่อนเคารพธงชาติเช้า) และเวลาก่อน ๑๘.๐๐ น. (ก่อนเคารพธงชาติเย็น)
 
ฟังเพลงยวนเคล้า แสดงความคิดเห็นหน่อยค่ะ  
ฟังเพลงเขมรไล่ควาย แสดงความคิดเห็นหน่อยค่ะ  
ฟังเพลงพม่าแปลง แสดงความคิดเห็นหน่อยค่ะ  
ฟังเพลงพม่าประเทศ แสดงความคิดเห็นหน่อยค่ะ  

ตัวอย่างบทละครพันทาง เรื่อง ราชาธิราช ตอน "ดูตัวสมิงนครอินทร์" ซึ่งใช้เพลงสำเนียงพม่า มอญ ประกอบการแสดง
(เพลงพม่าเดิน)
ครั้นถึงนายพม่าพาเข้าเฝ้า       ก้มเกล้าน้อมประนมบังคมไหว้
ฝ่ายสมิงนครอินทร์ไม่หมิ่นใจ    เข้านั่งในระหว่างกลางโยธา
(เพลงพม่ากลาง)
เมื่อนั้น                            พระเจ้ามณเทียรทองนาถา
เห็นนครอินทร์นั้นมาวันทา       เรียกให้นั่งเสนอหน้าเข้ามาชิด
แล้วชายเนตรทัศนามารยาท     เห็นองอาจอิสระงามจริต
ดูน่าชมสมชื่อเลื่องลือฤทธิ์       ทั้งน้ำจิตฝีมือซื่อสัตย์งาม
(เพลงพม่ากำชับ)
คิดพลางทางมีสิงหนาท                          ตรัสประภาษแกล้งขู่กระทู้ถาม
นี่แน่ะเจ้านครอินทร์หมิ่นสงคราม                 ซุ่มซ่ามไม่สำนึกรู้สึกกาย
เหมือนช้างใหญ่ไร้งาเข้ามาตรอม                ในฝูงล้อมสิงหราน่าใจหาย
จะจับเป็นเข่นฆ่าชีวาวาย                          เจ้าอย่าหมายจะได้ฟื้นคืนกลับรัง
(เพลงสองกุมาร)
บัดนั้น                                            นครอินทร์ยินถ้อยที่รับสั่ง
ไม่หวั่นไหวทูลความตามสัจจัง                  ซึ่งทรงตั้งพระกระทู้ขู่ก็ควร
ธรรมดาอำมาตย์ชาติทหาร                       เหมือนช้างสารระวังตัวอยู่ทั่วถ้วน
ย่อมเจนทีหนีไล่หลายกระบวน                  ไม่แปรปรวนเปรื่องปราดชาติชัยยะ
แม้อาสาลำพังยังไม่หย่อน                        เหมือนเสือซ่อนเล็บร้ายหายเกะกะ
มิให้ใครเห็นลายร้ายเจ้าคะ                       ซึ่งทรงพระบัญชาจะฆ่าฟัน
เหมือนรับสั่งบังอาจประมาทเสือ                นึกว่าเนื้อกระนั้นสิติหม่อมฉัน
แม้นไม่ถือสัตยาที่อาถรรพณ์                     ผลาญชีวันพระองค์คงวอดวาย
(เพลงพม่าอาโก)
เมื่อนั้น                                          พระทรงธรรม์คิดประมาทมาดหมาย
ซึ่งเจ้าว่าอาจฆ่าเราให้ตาย                       มีอุบายหรือนั่นเป็นฉันใด
(เพลงมอญรำดาบชั้นเดียว)
บัดนั้น                                      นครอินทร์ยิ้มเยาะหัวเราะให้
กราบถวายบังคมภูวไนย                          ทันใดนั่งตรงโหย่งกายา
ไขว้มือสอดลอดลงตรงไหล่นั้น                   ชักดาบสั้นแกว่งกรายทั้งซ้ายขวา
นั่งดำรงทรงกายชายหางตา                      ทำท่วงทีเงื้อง่าเป็นท่าฟัน
(เพลงรัวมอญ)
เมื่อนั้น                                     จอมกษัตริย์ตกพระทัยไหวหวั่น
ทั้งขุนนางที่นั่งอยู่ทั้งนั้น                          ต่างตะลึงอึ้งอั้นตันใจ
(เพลงแขกมอญบางขุนพรหม)
บัดนั้น                                      นครอินทร์ผู้มีอัชฌาศัย
เห็นพระองค์ทรงตระหนกตกพระทัย              วางดาบไว้แล้วกลับบังคมคัล
(เพลงแขกมอญบางขุนพรหมชั้นเดียว)
ขอเดชะพระองค์ดำรงชัย                          ผู้จอมไทธิราชรังสรรค์
ข้าไม่คิดประหารผลาญชีวัน                      พระโปรดอย่าหวาดหวั่นพรั่นพระทัย
ถ้าแม้นคิดพิฆาตบาทยุคล                        อันพระชนม์จะคงอย่าสงสัย
วันลอบไปในที่บรรทมใน                         หรือจะไว้ชนมาฝ่าธุลี
จนได้มาเฝ้าองค์พระทรงยศ                      ไม่คิดคดต่อเบื้องบทศรี
พระอย่าทรงกังขาให้ราคี                          ข้านี้สุจริตนิจกาล
อันพระองค์ทรงเดชเอกประชา                   ไม่สมควรแก่ข้าผู้ทหาร
แม้นไพร่พลพลากรจะรอนราญ                    จะประหารเหยียบย่ำให้ทำลาย
(เพลงพม่าไชยา)
ฟังวาจา                                    ผ่านฟ้าชอบในพระทัยหมาย
จึงตรัสว่าตัวท่านนั้นเป็นชาย                      สมเป็นฝ่ายนายทหารชาญศักดา
กษัตริย์ใดได้ทหารเช่นท่านนี้                     ดั่งได้ดวงมณีอันมีค่า
พลางถอดพระธำมรงค์ลงยา                       กับเครื่องม้าสุวรรณพรรณราย
ประทานแก่นครอินทร์อันศักดา                   ต่อหน้านายทัพสิ้นทั้งหลาย
พลางสำรวลสรวลยิ้มพริ้มพราย                    กล่าวภิปรายปราศรัยเป็นไมตรี
(เพลงพญาลำพอง)
บัดนั้น                                      นครอินทร์ยิ้มแย้มแจ่มศรี
รับของประทานพลันอัญชลี                       ไม่ช้าทีทูลลากลับมาพลัน

ขอบคุณข้อมูลบทละครจาก http://www.janicha.net/forum/index.php?topic=209.0

 
สมาชิกใหม่ทุกท่าน >>> กดที่นี่

ท่านเป็นเช่นนี้หรือไม่ ?
1 login ... เข้าเวป
2 หาเพลงโหลด
3 มีให้โหลด ตอบเพื่อโหลด ไม่มีให้โหลด ไปข้อ4
4 logout ... ไปดีกว่า
อา-ราย-หว่า ???

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 12, 2022, 02:34:40 pm โดย woraphon » บันทึกการเข้า

สวัสดีครับ ขอบคุณที่กรุณาอ่าน แสดงความคิดเห็น และตอบกระทู้ครับ
woraphon
Moderator
*

คำขอบคุณ: 3715
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 1115
สมาชิก ID: 1760


Level and Hp mod by the DtTvB :: version 1.02 :: Made for Zone-IT.com Level 27 : Exp 12%
HP: 0.2%


« ตอบ #4 เมื่อ: มีนาคม 08, 2012, 08:36:12 pm »

 

ตอนที่ ๕

เพลงไทยเดิมที่มีชื่อต่างชาติกับเพลงไทยเดิมแท้ ๆ มีมากน้อยเพียงใด

ผมทดลองนับรายชื่อเพลงไทยเดิมประเภทเพลงเกร็ดจากหนังสือสารานุกรมเพลงเกร็ดฉบับราชบัณฑิตยสถาน มีเพลงเกร็ด (เพลงเกร็ดคือเพลงเบ็ดเตล็ดที่ไม่ใช่เพลงโหมโรง เพลงเถา เพลงตับ เพลงหน้าพาทย์) เฉพาะเพลงที่มีประวัติบันทึกไว้ พบว่ามีจำนวนทั้งสิ้น  ๗๕๘ เพลง ในจำนวนนี้แยกเป็นเพลงที่มีชื่อต่างชาติดังนี้
•   แขก ๕๙ เพลง
•   จีน ๕๓ เพลง
•   ลาว ๓๖ เพลง
•   มอญ ๓๔ เพลง
•   เขมร ๓๓ เพลง
•   พม่า ๒๗ เพลง
•   ฝรั่ง ๑๒ เพลง
•   ขอม ๘ เพลง
•   เงี้ยว ๖ เพลง
•   ญวน ๕ เพลง
•   ญี่ปุ่น ๕ เพลง
•   ขะแมร์ ๔ เพลง
•   ชวา ๔ เพลง
•   นอกนั้นมีพราหมณ์ ตะลุง มลายู กะเหรี่ยง อาหรับ ชาติละเพลง ๒ เพลง
•   ที่แปลกคือมีเพลง “สามภาษา” ๑ เพลง แต่ไม่รู้ว่าเป็นภาษาอะไรบ้าง และมีอีกหลายเพลงที่มีชื่อ ๒ ภาษา เช่น แขกพราหมณ์ แขกมอญ แขกมอญบางช้าง แขกมอญแปลง เงี้ยวอาหรับ ญี่ปุ่นไทย ท่านผู้นำของไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ เคยดำริให้เอาชื่อต่างชาติออกไปให้หมด เช่น “ลาวดวงเดือน” เหลือแต่ “ดวงเดือน” “มอญแปลง” คงเหลือแค่ “แปลง” ซึ่งชักมึนบ้างแล้ว แต่ต้องมายอมจำนวนต่อเหตุผลด้วยเพลงชื่อ ๒ ภาษานี้แหละ เพราะถ้าตัดออกไปให้หมด เพลง “แขกมอญ” จะเป็นเพลงไม่มีชื่อไปทันที
•   ที่ไม่ใคร่จะรู้มาก่อนคือมีเพลงไทยเดิมที่มีชื่อ “ไทย”อยู่ด้วยถึง ๑๒ เพลง ซึ่งนับว่ามากพอดู เช่น ไทยมุง ไทยทวี ไทยครอง เป็นต้น

เมื่อรวมเพลงเกร็ดที่มีชื่อต่างชาติทั้งหมดแล้วนับได้จำนวน ๒๙๘ เพลง หรือประมาณร้อยละ ๔๐ ของเพลงเกร็ดทั้งหมด ดังนั้นจึงมีเพลงเกร็ดสำเนียงไทยแท้ ๆ อยู่ประมาณร้อยละ ๖๐ ซึ่งมากกว่าเพลงที่มีชื่อต่างชาติแน่นอน

อย่างไรก็ดีอาจมีเพลงชื่อไทยแต่สำเนียงเป็นต่างชาติอยู่จำนวนหนึ่ง เช่น กระต่ายเต้นเป็นเพลงสำเนียงมอญ ภิรมย์สุรางค์เป็นเพลงสำเนียงจีน แต่ก็มีเพลงที่ชื่อต่างชาติแต่เป็นสำเนียงไทยแท้อยู่เหมือนกัน เช่น เชิดจีน คงหักกลบกันไปได้

มีข้อสังเกตเกี่ยวกับเพลงไทยเดิมสำเนียงชาติต่าง ๆ ที่น่าสนใจดังนี้

เพลงไทยเดิมสำเนียงลาว ลาวในที่นี้มิใช่คนไทยภาคอีสาน (เพลงไทยเดิมสำเนียงลาวที่มาจากภาคอีสาน มีเพลงลาวกระทบไม้ เพลงแอ่วเคล้าซอ เป็นต้น ซึ่งมีจำนวนน้อยมาก) เพลงสำเนียงลาวส่วนใหญ่สัมพันธ์กับเพลงพื้นบ้านภาคเหนือ เช่น ลาวลำปางใหญ่ ลาวลำปางเล็ก (หรือแม่แล้ลำปาง) ลาวสร้อยลำปาง เส่เหลเมา ส่วนที่มาจากชนชาติลาว เช่น ลาวแพน เป็นต้น ซึ่งก็มีไม่มาก สำเนียงลาวจึงค่อนไปในทางสำเนียงไทยภาคเหนือ

เพลงไทยเดิมสำเนียงขอม ขอมเป็นคำใช้เรียกชื่อคนกลุ่มหนึ่ง ที่รับวัฒนธรรมฮินดูจากชมพูทวีปแล้วภายหลังเปลี่ยนเป็นพุทธมหายาน ขอมอาศัยอยู่ในที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อสู้ชิงความเป็นใหญ่กับคนทางเหนือ คำว่าขอมยังใช้เรียกคนเมืองละโว้หรือลพบุรีสมัยก่อนด้วย รวมใช้เรียกคนชนชาติเขมรด้วย ดังนั้นขอมจึงไม่ใช่เขมรทั้งหมด แต่เขมรเป็นขอมพวกหนึ่ง

เพลงไทยเดิมสำเนียงแขก "แขก" ใช้เรียกคนนับถือศาสนาอิสลาม ศาสนาซิกข์ และศาสนาฮินดูโดยรวม โดยไม่แยกว่าเป็นคนอินเดีย มลายู ชวา หรือตะวันออกกลาง เพลงไทยเดิมสำเนียงแขกจึงมีหลากหลาย เช่น เพลงแขกขาว น่าจะหมายถึงแขกจากตะวันออกกลาง แขกภารตะ น่าจะหมายถึงแขกอินเดีย แขกปัตตานี น่าจะหมายถึงแขกมลายู

ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม เพลงไทยเดิมแต่งโดยคนไทยทั้งหมด แม้จะจดจำทำนองต่างชาติมาแต่ก็ดัดแปลงให้เป็นแบบไทยไปแล้ว จึงต้องถือว่าเป็นเพลงไทยเดิม ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของคนไทยทั้งสิ้น

ถ้าเอาเพลงพม่าแปลงไปบรรเลงและขับร้องให้คนเมี้ยนม่าร์ฟัง เขาคงส่ายหน้าเพราะฟังไม่รู้เรื่อง และคงปฏิเสธกระมังว่าประเทศเขาไม่เคยมีเพลงทำนองนี้ ทั้งนี้เพราะเพลงนี้หม่อมหลวงต่วนศรี วรวรรณเป็นผู้แต่ง ซึ่งเคยใช้ประกอบการแสดงละครเรื่องราชาธิราช ซึ่งตัวละครเป็นพม่า มอญ ทั้งหมด ตอนที่แม่คร่ำครวญถึง “พ่อลาวแก่นท้าว” ลูกชายซึ่งถูกประหารชีวิต

 
สมาชิกใหม่ทุกท่าน >>> กดที่นี่

ท่านเป็นเช่นนี้หรือไม่ ?
1 login ... เข้าเวป
2 หาเพลงโหลด
3 มีให้โหลด ตอบเพื่อโหลด ไม่มีให้โหลด ไปข้อ4
4 logout ... ไปดีกว่า
อา-ราย-หว่า ???

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: สิงหาคม 10, 2013, 10:01:38 pm โดย woraphon » บันทึกการเข้า

สวัสดีครับ ขอบคุณที่กรุณาอ่าน แสดงความคิดเห็น และตอบกระทู้ครับ
woraphon
Moderator
*

คำขอบคุณ: 3715
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 1115
สมาชิก ID: 1760


Level and Hp mod by the DtTvB :: version 1.02 :: Made for Zone-IT.com Level 27 : Exp 12%
HP: 0.2%


« ตอบ #5 เมื่อ: มีนาคม 18, 2012, 03:22:55 pm »

 

ตอนที่ ๖
ทำไมเพลงไทยเดิมที่มีชื่อต่างชาติผสมอยู่จึงเป็นที่รู้จักกันมากกว่าเพลงไทยเดิมแท้ ๆ

ถึงแม้ว่าเพลงไทยเดิมสำเนียงไทยแท้ ๆ จะมีมากกว่าเพลงไทยเดิมสำเนียงชาติภาษาต่าง ๆ ก็ตาม แต่โดยข้อเท็จจริงคนไทยรู้จักเพลงไทยเดิมสำเนียงชาติภาษาต่าง ๆ มากกว่าเพลงไทยเดิมสำเนียงไทยแท้ ๆ

ถ้าจะถามคนไทยว่ารู้จักเพลงไทยเดิมเพลงอะไรบ้าง คำตอบที่ได้คงออกมาว่ารู้จักเพลงลาวดวงเดือน เพลงเขมรไทรโยค เพลงลาวเจริญศรี เพลงลาวจ้อย เพลงมอญดูดาว เสียเป็นส่วนใหญ่ คงมีน้อยคนกระมังที่ตอบว่านอกจากเพลงที่กล่าวข้างต้นแล้วยังรู้จักเพลงสีนวล  เพลงสร้อยสนตัดด้วย และถ้าถามต่อไปว่าร้องเพลงไทยเดิมเพลงอะไรได้บ้าง คงได้คำตอบว่าเพลงลาวดวงเดือนหรือลาวจ้อยถึงร้อยละ ๙๐
(แต่อย่าไปถามนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมนะครับ ท่านคงไม่รู้จักหรอกว่าเพลงไทยเดิมคืออะไร เท่าที่เคยเห็นมามีแต่อดีตนายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวชคนเดียวที่พอเห็นวงดนตรีไทยแล้วละก้อต้องขอร้องเพลง “โยสะลัม” เพลงไทยเดิมสำเนียงฝรั่ง ที่มีเนื้อร้องว่า “ปากเป็นเอก เลขเป็นโท โบราณว่า” ซึ่งครูเอื้อ สุนทรสนาน และวินัย จุลละบุษปะ เคยร้องบันทึกเสียงไว้ ฟังได้ที่ http://www.youtube.com/watch?v=l9YJkJIJXXY หรือที่ http://www.youtube.com/watch?v=n8eHQhc8b2k

การที่คนไทยรู้จักเพลงไทยเดิมสำเนียงไทยแท้ ๆ น้อยมาก คงเป็นเพราะสาเหตุ ๒ ประการ

สาเหตุประการที่ ๑ เพลงไทยเดิมสำเนียงไทยแท้มีทำนองซับซ้อนกว่าเพลงสำเนียงภาษาต่าง ๆ จึงเข้าใจและจดจำได้ยากกว่า เพลงสำเนียงไทยมักมีโน้ตครบ ๗ เสียง (โด เร มี ฟา ซอล ลา ที) บางเพลงมีทางหรือบันไดเสียง ๒-๓ บันไดในเพลงเดียวกัน ขณะที่เพลงสำเนียงลาวปกติมี ๕ เสียงเท่านั้น (โด เร มี ซอล ลา) ส่วนเพลงสำเนียงมอญท่านผู้รู้บางท่าน (ผมจำไม่ได้เสียแล้วว่าเป็นท่านใด-ต้องขออภัยด้วย) ว่าปกติมี ๖ เสียง (ที โด เร ฟา ซอล ลา) ลองเปรียบเทียบเพลงลมพัดชายเขา (สำเนียงไทย) เพลงลาวจ้อย (สำเนียงลาว) เพลงมอญดูดาว (สำเนียงมอญ) จากโน้ตต่อไปนี้

เพลงลมพัดชายเขา ๒ ชั้น
ท่อน ๑
(---ม –ซซซ -ม-ล ซซซซ) -มํ-รํ   -ดํ- ท   ลซลท   -ดํ-รํ
----   ---ท   ---รํ   -- -ล   ---ฟ   -ม-ฟ   -ล-ฟ   -ม-ร
---ด   -รรร   -ด-ม   รรรร   -มํ-รํ   -ดํ-ท   ลซลท   -ดํ-รํ
----   ---ท   ---รํ   ---ล   -ร-ซ   -ล-ท   -รํ-ท   -ล-ซ
ท่อน ๒
(---ม   -ซซซ   -ม-ล   ซซซซ)   -ท-ล   -ซ-ม   -ร-ม   -ซ-ล
-ทรํล   ทลซม   -ร-ม   -ซ-ล   -รํ-ท   -ล-ซ   -ร-ซ   -ล-ท
-ซลท   -รํ-มํ   -ลซม   -รํ-ท   -ทรํล   ทลซม   -ร-ม   -ซ-ล
-ท-ล   -ซ-ม   -ร-ม   -ซ-ล   -ล-ล   ---ท   --มํรํ   ทรํ-มํ

ถ้าเล่นท่อน ๒ ซ้ำ หรือกลับไปเล่นท่อน ๑ ใหม่เปลี่ยนโน้ตในวงเล็บเป็น (---ร   -มมม   -ร-ฟ   -มมม)            

เพลงลาวจ้อย ๒ ชั้น
---ด   รมซร   ----   -ม-ร   ---ด   รมซร   มรดร   -ม-ซ
---ม   ซลดํซ   --- ม   รดรม   --ซ ล   -ดํ-รํ   มํรํดํล   -ดํ-ซ
----   ----   -ซ-ล   ดํรํมํล   --ซมํ   --ซล   --ซ ล   ดํรํดํซ
----   ----   ซํมํรํดํ   -รํ-มํ   ----   -ดํ-รํ   มํรํดํรํ   -มํ-ดํ

เพลงมอญดูดาว ๒ ชั้น
---ซ   -ซซซ   -ฟํ-รํ   -รํรํรํ   ดํรํฟํดํ   -รํ-ดํ   ทดํซล   ทรํดํท
---ซ   -ซซซ   -ฟํ-รํ   -รํรํรํ   ดํรํฟํดํ   -รํ-ดํ   ทดํซล   ทรํดํท
---ท   -ดํดํดํ   -ท-รํ   -ดํดํดํ   -ซํฟํรํ   -ดํ-ท   --รํดํ   ทดํ-รํ
----   -ฟํ-รํ   ----   -ดํ-ท   ---ดํ   -รํ-ท   ---ซ   -ท-ดํ
---รํ   -ดํดํดํ   รํดํรํท   -ดํ-รํ   ----   ----   -ซ-ซ   ---ล
----   -ซ-ล   -ดํ-ซ   -ซซซ            

ลองฟังเพลงไทยเดิมลมพัดชายเขา ๒ ชั้น http://www.youtube.com/watch?v=tVptDw5uSKg&feature=related
ลองฟังเพลงไทยเดิมลาวจ้อย ๒ ชั้น http://www.youtube.com/watch?v=sOcXndxsvQA  
ลองฟังเพลงไทยเดิมมอญดูดาว ๒ ชั้น http://www.youtube.com/watch?v=6p173ijrrs4

ลองฟังเพลงไทยสากลที่ดัดแปลงทำนองเพลงไทยเดิม
เพลงไทยสากลที่ดัดแปลงทำนองเพลงลมพัดชายเขา ๒ ชั้น ลองฟังเพลงยามดึก สุเทพ วงศ์กำแหง ขับร้อง http://www.youtube.com/watch?v=DEG-D4SCrdw
เพลงไทยสากลที่ดัดแปลงทำนองเพลงลาวจ้อย ๒ ชั้น ลองฟังเพลงไก่ฟ้า ขับร้องโดยชาญ เย็นแข http://www.youtube.com/watch?v=I-tVSOnaDrM    
เพลงไทยสากลที่ดัดแปลงทำนองเพลงมอญดูดาว ๒ ชั้น ลองฟังเพลงพุ่มพวงรำวง ขับร้องโดยพุ่มพวง ดวงจันทร์ http://www.youtube.com/watch?v=FOwB5D05uwM

ถ้าท่านไม่รู้จัก หรือไม่เคยฟังเพลงลมพัดชายเขา เพลงลาวจ้อย และเพลงมอญดูดาวมาก่อน ลองฟังเพลงไทยเดิมและเพลงสากลทำนองไทยเดิมที่แนะนำ ท่านจะร้องเพลงไก่ฟ้าได้ก่อน ตามด้วยเพลงพุ่มพวง(อด)รำวง ส่วนเพลงยามดึกคงจะร้องได้เป็นเพลงสุดท้าย เพราะความซับซ้อนของทำนองต่างกันครับ

สำหรับสาเหตุประการที่ ๒ นั้นคงเป็นเพราะคนไทยสามารถซึมซับรับเอาวัฒนธรรมของต่างชาติได้เร็วและดี (น่าจะเร็วและดีติดอันดับโลกด้วย เห็นได้จากการรับเอาวัฒนธรรมเกาหลีในปัจจุบัน) ในขณะที่ยังไม่เข้าใจและซาบซึ้งในวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติอย่างเพียงพอ จึงทำให้วัฒนธรรมของชาติค่อย ๆ จางหายไปในที่สุดครับ

 
สมาชิกใหม่ทุกท่าน >>> กดที่นี่

ท่านเป็นเช่นนี้หรือไม่ ?
1 login ... เข้าเวป
2 หาเพลงโหลด
3 มีให้โหลด ตอบเพื่อโหลด ไม่มีให้โหลด ไปข้อ4
4 logout ... ไปดีกว่า
อา-ราย-หว่า ???

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 25, 2012, 07:36:28 pm โดย woraphon » บันทึกการเข้า

สวัสดีครับ ขอบคุณที่กรุณาอ่าน แสดงความคิดเห็น และตอบกระทู้ครับ
ดาวิกา
Global
*

คำขอบคุณ: 12060
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
กระทู้: 3972
สมาชิก ID: 1468


Level and Hp mod by the DtTvB :: version 1.02 :: Made for Zone-IT.com Level 51 : Exp 30%
HP: 83.6%


เว็บไซต์
« ตอบ #6 เมื่อ: มีนาคม 18, 2012, 04:59:07 pm »

เน้นด้วยการคาดสีแดงอ่านยากจังค่ะ คุณวรพล
มะลองเปลี่ยนเป็นที่อ่อนกว่า เช่น สีเหลือง หรือ สีฟ้า บ้าง จะดีไหมคะ
เพราะสีแดงผสมกับสีดำแล้ว อ่านไม่สบายตาเลย
สมาชิกใหม่ทุกท่าน >>> กดที่นี่

ท่านเป็นเช่นนี้หรือไม่ ?
1 login ... เข้าเวป
2 หาเพลงโหลด
3 มีให้โหลด ตอบเพื่อโหลด ไม่มีให้โหลด ไปข้อ4
4 logout ... ไปดีกว่า
อา-ราย-หว่า ???

บันทึกการเข้า

poccom19
สายสัมพันธ์.
*

คำขอบคุณ: 4594
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 3792
สมาชิก ID: 350


Level and Hp mod by the DtTvB :: version 1.02 :: Made for Zone-IT.com Level 50 : Exp 13%
HP: 1.6%


« ตอบ #7 เมื่อ: พฤศจิกายน 17, 2012, 08:31:52 pm »

สุดยอดครับเก่าได้ใจจริงๆครับผมชอบเป็นที่สุดเลยครับ ขอบคุณมากๆครับผม
สมาชิกใหม่ทุกท่าน >>> กดที่นี่

ท่านเป็นเช่นนี้หรือไม่ ?
1 login ... เข้าเวป
2 หาเพลงโหลด
3 มีให้โหลด ตอบเพื่อโหลด ไม่มีให้โหลด ไปข้อ4
4 logout ... ไปดีกว่า
อา-ราย-หว่า ???

บันทึกการเข้า
คนรักดี2012
สมาชิกเต็มตัว
*

คำขอบคุณ: 1917
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 505
สมาชิก ID: 1921


Level and Hp mod by the DtTvB :: version 1.02 :: Made for Zone-IT.com Level 18 : Exp 21%
HP: 0.1%


« ตอบ #8 เมื่อ: เมษายน 18, 2013, 11:36:09 am »

เข้าไปดูเวปของอ.วิพล นาคพันธ์ครับ สุดยอดเลยครับ http://www.gotoknow.org/posts/458274
สมาชิกใหม่ทุกท่าน >>> กดที่นี่

ท่านเป็นเช่นนี้หรือไม่ ?
1 login ... เข้าเวป
2 หาเพลงโหลด
3 มีให้โหลด ตอบเพื่อโหลด ไม่มีให้โหลด ไปข้อ4
4 logout ... ไปดีกว่า
อา-ราย-หว่า ???

บันทึกการเข้า

อย่าท้อใจในการทำดี พลิกวิถีชีวี ไปสู่การเป็นยอดคน
หน้า: [1]
 
 
กระโดดไป:  






Saisampan.net
สายสัมพันธ์ - เพลงลูกทุ่งเก่า (เก่ากว่าที่ท่านคิด)
Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2011, Simple Machines Valid XHTML 1.0! Valid CSS!