มีข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตว่า เมื่อหลายสิบปีก่อน คุณอาจินต์ ปัญจพรรค์ (ศิลปินแห่งชาติ) ได้ร่วมกับครูสง่า อารัมภีร (ศิลปินแห่งชาติ) แต่งเพลงไทยสากลออกมาชุดหนึ่งจำนวน ๔ เพลง ประกอบด้วย
เพลงสาวตางาม เพลงขุ่นลำโขง เพลงเว้าสาวอีสาน และเพลงแล้งในอก เป็นเพลงแนวทำนองพื้นเมืองอีสาน โดยนำภาษาอีสานเข้ามาอยู่ใช้เพลงด้วย
ผมฟังเพลงทั้ง ๔ เพลงแล้ว เห็นว่า
เพลงสาวตางาม น่าจะใช้ทำนอง "เต้ยลา" เพลงขุ่นลำโขง ใช้ทำนอง "เต้ยโขง" ส่วนเพลงเว้าสาวอีสาน น่าจะเป็นทำนอง "ลำเต้ย" (ท่านใดที่ชำนาญเรื่องเพลงพื้นเมืองอีสานกรุณามีคำแนะนำเพิ่มเติมด้วยครับ)แต่สำหรับเพลง "แล้งในอก" ผมฟังแล้วฟังอีกเห็นว่าไม่ใช่ทำนองเพลงพื้นเมืองอีสาน น่าจะเป็นทำนองเพลงภาคเหนือ ซึ่งผมสงสัยอยู่เพลงหนึ่งว่าจะเป็นทำนองเพลง "ลาวคลึง" หรือไม่ โดยมีต้นเค้ามาจากข้อเขียนของอาจารย์หน่องในเว็บไทยคิดส์ (
http://x.thaikids.com/phpBB2/viewtopic.php?t=4690&sid=9c63f06554b1a76e3b151f18a399f280) ว่ามีเพลงลาวคลึงอยู่ในเพลงชุดลาวลำปาง มีเนื้อร้องขึ้นต้นว่า "ไปเถอะนะแม่ไป ไปเกี่ยวหญ้าไทรหญ้าปล้อง ไปกันสองคนกับอี่น้อง ไปเกี่ยวหญ้าปล้องหญ้าไทร" ซึ่งมีเนื้อร้องคล้ายกับเพลงแล้งในอกที่ขึ้นต้นว่า "ไปเถอะหนาแม่ไป ไปเที่ยวตามใจของเจ้า พี่นี้คอยเป็นเงา จะเที่ยวคอยเฝ้าคอยมอง"
เป็นที่น่าเสียดายว่าไม่มีเพลงลาวคลึงในคลังเพลงของผม ไม่มีในอินเตอร์เน็ต ถามหาจากเพื่อนฝูงหลายท่านก็ไม่มี มีแต่ข้อมูลว่ามานี มณีวรรณ เคยร้องเพลง "ลาวคลึง" ไว้เพลงหนึ่ง ซึ่งมีชื่อเพลงอีกชื่อหนึ่งว่า "มอญเจี๊ยะหอย" แต่หาฟังไม่ได้เช่นเดียวกัน
ผมจึงตัดสินใจตามไปค้นหาเพลงลาวคลึงถึงหอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี พบว่าที่ห้องสมุดดนตรีทูลกระหม่อมบริพัตรมีแผ่นเสียงเพลงลาวคลึงแบบไทยสากลที่มานี มณีวรรณ ขับร้อง (ซึ่งมีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า "มอญเจี๊ยะหอย") แต่หอสมุดไม่ได้ให้บริการเพลงจากแผ่นเสียง ผมเกือบจะกลับบ้านแบบเดินทาง ๑,๕๐๐ กม.เสียเวลาเปล่าอยู่แล้ว ก็บังเอิญไปพบว่า ศ.ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ แห่งคณะพัฒนศิลป์การดนตรีและละคร ได้ทำเทปเพลงลาวคลึงไว้ ซึ่งหอสมุดมีให้บริการ ผมจึงได้ฟังเพลงลาวคลึงเพื่อตรวจสอบทำนองเป็นที่เรียบร้อย
(ขอขอบคุณห้องสมุดดนตรีทูลกระหม่อมบริพัตร หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี เป็นอย่างยิ่งที่ช่วยให้ผมได้คำตอบ หลังจากที่กังขาเรื่องเพลงลาวคลึงมาเป็นเวลาหลายปี)เพลงลาวคลึงจากเทปของ ศ.ดร.อุทิศ เป็นเพลงเนื้อเต็ม เนื้อร้องขึ้นต้นว่า "ไปเถอะนะแม่ไป ไปเกี่ยวหญ้าไทรหญ้าปล้อง ไปกันสองคนกับอี่น้อง ไปเกี่ยวหญ้าปล้อง..." อย่างที่อาจารย์หน่องได้เขียนไว้ เมื่อนำมาเทียบกับเพลงแล้งในอกแล้วปรากฏว่าเป็นทำนองเดียวกัน แถมยังมีถ้อยคำที่คล้ายกันอีกตอนหนึ่งที่เพลงแล้งในอกมีว่า "ฝนตกสุยสุย" ส่วนเพลงลาวคลึงมีเนื้อร้องว่า "ฝนตกจุ๋ยจุ๋ย"
ดังนั้น จึงมีข้อสรุปว่าเพลง "แล้งในอก" ทำนองไทยเดิม "ลาวคลึง"