อาจารย์ หมอมานพ ส่งมาให้อ่าน เห็นว่า เป็นประโยชน์ จึงส่งต่อทุกท่านครับ,,,,,,,,,มนตรี
คิดว่าพวกท่านหลายคนที่รู้ถึงการเจ็บป่วยของผม ขอเล่าเพิ่มเติมนิดหน่อย มีอยู่วันหนึ่งที่ผมลงไป กทม.เพื่อเยี่ยมเยีนนลูกๆ อะไรก็ไม่ทราบที่ทำให้ผมนึกอยากตรวจร่างกายขึ้นมา โดยที่ผมไม่มีอาการเจ็บป่วยใดๆ นอกจากกดเจ็บเล็กน้อยที่ใต้ลิ้นปื่ หมอที่ตรวจก็ว่าน่าจะเป็นโรคกระเพาะ เลยส่องกล้องดูกระเพาะอาหาร พบว่า มีการอักเสบเล็กน้อยที่กระเพาะ ให้ยามากินหนึ่งเดือน เมื่อครบกำหนด อาการก็คงเดิม ก็เริ่มกังวนว่า มันอาจมีอะไรซ่อนอยู่ เลยส่องดูลำไส้ใหญ่ ก็พบว่าเป็นมะเร็งที่ส่วนต้นของลำไส้ใหญ่ ก็เลยผ่าตัด ตรวจต่อมน้ำเหลืองพบว่ามีการกระจาย 3-4 จุด หลังผ่าตัดหนึ่งเดือนก็ให้คีโมบำบัดต่ออีก 6 เดือน มาจนถึงวันนี้ก็เป็นเวลา 3 ปีแล้ว บทความที่ผมได้รับ ( 50 ไม่แจ๋ว... ) มีประโยชน์มากๆ ควรอ่าน จดจำ และ ปฏิบัติ จริงๆ
มานพ
50 ไม่แจ๋ว...
ใครที่มั่นใจว่าอยู่ในวัยห้าสิบแล้วคิดว่าตัวเองยังแจ๋วอยู่ลองฟังทางนี้ ท่านอาจจะเปลี่ยนใจคิดใหม่ว่า...ห้าสิบนั้นไม่แจ๋วแล้ว
เพราะว่าโรคนี้เล่นงานคนวัยห้าสิบอัพมากขึ้นทุกปี โดยทั้งเพศชายกับเพศหญิงมีโอกาสเป็นสูสีกันอย่างยิ่ง
โรคที่ว่าคือมะเร็งลำไส้ใหญ่...
พ.อ.น. พ.ผศ.กสานติ์ สีตลารมณ์ หัวหน้าแผนกมะเร็งวิทยา กองอายุรกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กับ ผศ.นพ.เอกภพ สิระชัยนันท์ หัวหน้าหน่วยมะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ในนามมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย ร่วมกันให้ข้อมูลว่า
โรคนี้กำลังเป็นปัญหาสำคัญในประเทศไทย เพราะเป็นโรคมะเร็งที่พบได้บ่อยในผู้ชายไทยเป็นอันดับสาม และพบในผู้หญิงเป็นอันดับห้า
นอกจากพบบ่อยแล้วยังมีอัตราตายที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากว่าคนไข้จะมาหาหมอในระยะที่เป็นมากแล้ว
แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ?
อาการที่พบบ่อยคือมีความผิดปกติในการขับถ่ายอุจจาระ เช่น ท้องผูกเรื้อรัง ท้องผูกสลับท้องเสีย อุจจาระเป็นเลือด
อาการ อื่นที่ไม่เกี่ยวกับการขับถ่าย เช่น ภาวะอ่อนเพลียจากโลหิตจาง เพราะเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่แล้วจะเสียเลือดออกมาปนกับอุจาจาระ พอนานเข้าก็เป็นโลหิตจางได้ แล้วอาจจะมีการเบื่ออาหารและน้ำหนักลด
แต่ หากมีอาการแบบนี้แล้วก็ต้องบอกว่ามะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ลุกลามไปถึงระยะที่สาม หรือระยะที่สี่แล้ว เพราะฉะนั้นเราควรจะตรวจคัดกรองตั้งแต่ไม่มีอาการจะโชคดีมากกว่า
แล้วเราจะตรวจคัดกรองอย่างไร ?
ขั้น ต้นก็ต้องรู้ก่อนว่าโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนใหญ่จะเริ่มตั้งแต่อายุห้าสิบปี ขึ้นไป ฉะนั้น ทั้งชายและหญิงที่วัยนี้ในการตรวจร่างกายประจำปีก็ควรจะตรวจคัดกรองหามะเร็ง ลำไส้ใหญ่ในระยะเริ่มแรกได้แล้ว
สิ่งที่เราทำง่ายที่สุดก็คือการตรวจหาเลือดที่ปนมากับอุจจาระ โดยเก็บอุจจาระไปให้ตรวจสามวัน เพื่อเช็กว่ามีเลือดปนมาด้วยหรือไม่
ถ้า มีก็ต้องตรวจหาขั้นต่อไปคือ สวนแป้งเอกซเรย์ แล้วก็ส่องกล้องสั้นและส่องกล้องยาว ๆ ตลอดลำไส้ใหญ่ ซึ่งจะช่วยให้เห็นว่ามีก้อนเนื้องอกในลำไส้ไหม ถ้ามีก้อนผิดปกติ เราก็จะตัดชิ้นเนื้อไปตรวจสอบว่าเป็นมะเร็งหรือไม่
แล้วสาเหตุของมะเร็งลำไส้ใหญ่มาจากอะไร ?
ทาง การแพทย์พบว่า ในชาวตะวันตกที่เป็นมะเร็ง ลำไส้ใหญ่จะสัมพันธ์กับการกินเนื้อสีแดง หรือ red meat เช่น พวกเนื้อวัว เนื้อหมู ซึ่งจะมีไขมันอิ่มตัวสูง
ประการที่สองคือ พบในคนที่ไม่ค่อยกินเส้นใยสูง เช่น ข้าวซ้อมมือ โฮลวีต ผัก ผลไม้ ถั่วต่าง ๆ เป็นต้น
และ อีกปัจจัยเสี่ยงหนึ่งคือพันธุกรรม ฉะนั้น คนที่มีประวัติในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่จึงควรมาตรวจค้นหาคัดกรอง โดยตรวจเร็วกว่าคนทั่ว ๆ ไป คือควรตรวจในช่วงอายุ 30-40 ปี
เพราะตอนนี้พบผู้ที่เป็นแล้วตั้งแต่อายุยี่สิบปีเศษ ๆ
หากตรวจพบในระยะที่ 1 หรือ 2 เมื่อผ่าตัดแล้วก็หายขาดได้ อัตราเสียชีวิตต่ำ แต่ถ้าเป็นในระยะที่ 4 แล้ว ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้
การรักษานั้นจะเลือกการรักษาตามระยะของโรค เช่น ระยะที่ 1 ก้อนเนื้อจะเล็กนิดเดียว ผ่าตัดแล้วก็หายขาดได้ โอกาสมากกว่า 90%
ส่วนระยะที่ 2 ยังไม่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง จะใช้การผ่าตัด โอกาสหายขาดจะเหลือประมาณ 80%
แต่ ถ้าบางรายความเสี่ยงสูง เช่น ชิ้นเนื้อค่อนข้างดุ มีปัญหาลำไส้ทะลุ ลำไส้อุดตัน ถึงแม้จะเป็นระยะที่ 2 โอกาสที่กลับมาเป็นอีกค่อนข้างสูง เราจะให้ยาเคมีบำบัดหลังการผ่าตัดเพื่อลดโอกาสมาเป็นซ้ำ
หากเป็น ระยะที่ 3 เชื้อจะกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองแล้ว จะต้องผ่าตัด และให้ยาเคมีบำบัดทุกรายจนครบ 6 เดือน แต่โอกาสหายขาดก็ประมาณ 40%
แต่ ถ้าเป็นถึงระยะที่ 4 จะดูความแข็งแรงของผู้ป่วย ถ้าผู้ป่วยแข็งแรงจะให้ยาเคมีบำบัดเพื่อบรรเทาอาการจากโรค ปัจจุบันมีการรักษาที่ดีขึ้นทำให้สามารถยืดระยะเวลาออกไปอีก 1 ถึง 2 ปี แต่ถ้าผู้ป่วยอ่อนแอมากจะทำการรักษาแค่ประคับประคอง
แต่ที่น่าตกใจ คือ ปัจจุบันยังมีคนไทยจำนวนน้อยมากที่ไปตรวจสุขภาพประจำปี แล้วตรวจคัดกรองเรื่องมะเร็งลำไส้ใหญ่ เพราะส่วนใหญ่มักจะอ้างว่าไม่มีเวลา ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายในการตรวจนั้นถือเป็นประเด็นรอง
ในการไปตรวจ ส่องกล้องเพื่อคัดกรองนั้น จะต้องนัดแนะกับหมอเพื่อเตรียมพร้อมก่อน ได้แก่ กินอาหารที่ไม่มีกาก กินอาหารที่ไม่มีเลือดสัตว์ปน และต้องกินยาระบายก่อนมาตรวจ เพราะหากมีอุจจาระอยู่เวลาส่องกล้องจะมองเห็น แผลไม่ชัด
แต่ไม่แนะนำให้ตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพราะจะมองเห็นในก้อนใหญ่ ๆ เท่านั้น
เมื่อท่านอายุถึง 50 ปี นั่นบ่งบอกว่าร่างกายของท่าน ไม่แจ๋วแล้ว โอกาสจะเสี่ยงเป็นโรคร้ายมีได้ทุกเมื่อ
จึง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องไปตรวจคัดกรองโรคที่ท่านเสี่ยง เพราะถ้าท่านตรวจพบก่อน โอกาสที่จะไม่ต้องผจญกับความเจ็บป่วยอันทุกข์ทรมานก็มีมากขึ้น