เนื่องจากวันนี้มีข่าวเศร้าว่าท่านได้สิ้นลมอย่างสงบ ศพของ คุณศักดิ์ โกศลตั้งอยู่ที่วัดลาดพร้าว ศาลา 9 รดน้ำศพวันเสาร์ที่12 ก.พ.2554 เวลา 16.00 น. สวดพระอภิธรรมวันที่12-14 ก.พ. 2554 ฌาปนกิจวันที่ 15 ก.พ. 2554 เวลา 15.00 น.
จึงขอนำประวัติ-ข่าวการเจ็บป่วยครั้งสุดท้้ายของท่านมาลงอีกครั้ง
มะเร็งขั้นสามคุกคามลูกทุ่งรุ่นอมตะศักดิ์ โกศล
คมชัดลึก : ศักดิ์ โกศล วัย 82 ปี เจ้าของเสียงเพลง “กำแพงเงิน” และเพลง "อย่าฆ่าผมเลย" ป่วยหนักด้วยมะเร็งระยะที่ 3 ถุงลมโป่งพอง หอบหืด ความดันโลหิตสูง ญาติพาส่งโรพยาบาลราชวิถี หมอให้ญาติทำใจหลังตรวจพบมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร ปอดติดเชื้อ
ปิยะดา พาทยโกศล บุตรสาวของอดีตนักร้องเพลงหวานให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว "คม ชัด ลึก" ถึงอาการป่วยของผู้เป็นพ่อด้วยน้ำเสียงไม่สู้ดีว่า
"พ่อป่วยเป็นโรคหอบหืด ความดันโลหิตสูง ถุงลมโป่งพอง เป็นมา 2 ปีแล้ว และเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้วหมอตรวจพบเป็นมะเร็งเนื้องอกในกระเพาะปัสสาวะ ระยะที่ 3 ก็ฉายรังสีเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ่อจำใครไม่ค่อยได้ คุยก็ไม่รู้เรื่องแล้ว อาการตอนนี้ได้แต่ประคับประคองไปเท่านั้น ต้องให้อาหารทางสายยาง น้ำหนักพ่อเหลือ 40 กิโลเท่านั้น ตอนนี้ท่านก็ไม่กินยา ดึงท่อสายยางที่ให้อาหารออกอีก พี่ต้องลาออกจากงานมาคอยเฝ้า เพราะพี่น้องคนอื่นอยู่ไกลไม่สามารถมาดูแลได้"
บุตรสาวของศักดิ์ โกศล กล่าวด้วยน้ำเสียงเศร้าสร้อยอีกว่า
"เมื่อช่วงสายวันศุกร์ที่ผ่านมา มีพยาบาลที่คอยดูแลพ่อเขามาใส่ท่อสายยางที่ใช้ให้อาหารให้แล้ว แนะนำให้ส่งพ่อมาที่โรงพยาบาลเพราะว่าอาการพ่อไม่ดี พี่เลยเรียกรถโรงพยาบาลมารับไป ตอนนี้นอนอยู่ตึกอายุรกรรมชาย ชั้น 2 เตียง 23 หมอตรวจพบว่ามีเลือดออกในกระเพาะอาหาร ซึ่งคาดว่ามาจากผลของโรคมะเร็งที่เป็นอยู่ และปอดติดเชื้อ หมอก็เรียกพี่ไปบอกว่าพ่อมีอาการไม่ดี 50/50 ให้ทำใจเพราะเขาพร้อมจะไป ซึ่งพี่ก็บอกว่าอยากให้พ่อไปแบบสงบๆ"
สำหรับ ศักดิ์ โกศล มี ชื่อจริงว่า “ประสพ พาทยโกศล” เกิดวันจันทร์ที่ 6 มกราคม 2472 เดือนยี่ ปีมะเส็ง ที่บ้านเลขที่ 8 ถนนพิชัย เขตดุสิต บริเวณเชิงสะพานเทพหัสดิน บิดาชื่อ “ขุนอายุทธสุรทัณฑ์” รับราชการเป็นผู้คุมลหุโทษ แม่ชื่อ “อังกาบ” มีพี่น้อง 8 คน (ชาย 3 หญิง 5) เป็นคนที่ 6 จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่โรงเรียนนันทนศึกษา ราชวัตร ชอบการร้องเพลงมาตั้งแต่เด็ก ขึ้นประกวดครั้งแรกเมื่ออายุได้ 17 ปี ที่วัดอินทร์ บางขุนพรหม ใช้ชื่อว่า ส. อมรศิลป์ คืนนั้น ดอกดิน กัญญามาลย์ เป็นกรรมการ ศักดิ์ร้องเพลง “คนล้มอย่าข้าม” ของ สมยศ ทัศนพันธ์ ได้ที่ 2 งานต่อมาที่วัดแถวบางพลัด ร้องเพลง “แม่นางนกขมิ้น” ของสมยศเช่นเคย ได้ที่ 1 เป็นครั้งแรก ต่อจากนั้นได้ที่ 1 เกือบทุกครั้ง
เส้นทางเข้าเป็นนักร้อง เมื่อปี พ.ศ. 2496 ขณะนั้นอายุได้ 24 ปี ส.อ.จรัล ด่อนแก้ว แห่งกองดุริยางค์ทหารบก ชักนำเข้าไปร้องเพลงกับกองดุริยางค์ทหารบก ในสมัยนั้นมี ร.ท.มงคล ชิดชอบ เป็นผู้บังคับบัญชา ในขณะที่อยู่กับวงดุริยางค์ทหารบก ครู ป. ชื่นประโยชน์ แต่งเพลง “ยลโฉม” ให้ร้องบันทึกเสียงเป็นครั้งแรก ตามด้วยเพลง “นางในอารมณ์” โดยใช้ชื่อ พูลศักดิ์ พาทยโกศล
ศักดิ์อยู่วงดุริยางค์ทหารบกได้ 2 ปี ก็ลาออก ไปอยู่กับวง “พรเกษม” ของ ลุงโกร่ง กางเกงแดง และ ลุงโกร่ง เปลี่ยนชื่อให้ใหม่เป็น “ศักดิ์ โกศล” ออกจากวง “พรเกษม” ก็ไปเดินสายกับวง ก้าน แก้วสุพรรณ ครู บรรจบ เกียรติบันลือ นำเพลง “กำแพงเงิน” ซึ่งแต่งโดย อรุณ รุ่งรัตน์ มาให้ร้องหน้าเวที หลังจากนั้น ครูบรรจบก็นำเข้าสังกัดกับคณะละคร “วัฒนารมณ์” ซึ่งมี ผาสุข วัฒนารมย์ เป็นหัวหน้าคณะ ในยุคนั้นมี อุดม ผ. เมฆเจริญ เป็นพระเอก อารีวรรณ วัฒนารมย์ เป็นนางเอก ชินดิษฐ์ บุนนาค และ อาเนี้ยว ททท. (ทองหล่อ คงสุข) เป็นผู้ร้าย และ ศรีวรรณ เดือนสว่าง ร่วมอยู่ด้วย ต่อมามีโอกาสได้เป็นพระเอกคู่กับอารีวรรณ วัฒนารมณ์ และศรีวรรณ และได้นำเพลงที่เคยร้องหน้าเวทีสมัยที่อยู่กับก้าน แก้วสุพรรณ มาบันทึกเสียง คือเพลง “กำแพงเงิน” เพลงดังอื่นๆ ที่ถูกพูดถึง เช่น เพลง “อย่าฆ่าผมเลย" ร้องแก้กับเพลง “อยากฆ่าผู้ชายเจ้าชู้" ของนวลละออง รุ่งเพชร เพลง “ฝันถึงวิมาน" แก้กับเพลง “วิมานในฝัน" ที่ร้องโดย ผ่องศรี วรนุช
เมื่อละครวิทยุเลิก ก็ออกไปจัดรายการอยู่ที่สถานีวิทยุสวนมิสกวัน คู่กับอารีวรรณ วัฒนารมย์ เมื่อมีชื่อเสียงก็ตั้งวงดนตรี “ศักดิ์ โกศล” ขึ้น เดินสายอยู่ประมาณ 10 ปี ก็เลิกวง แล้วกลับมาจัดรายการอีกครั้ง คู่กับ “ศรีวรรณ เดือนสว่าง” และ “ราม ราชวัลย์” เป็นรายการ “รีวิวประกอบเพลง” โดยมีบริษัทขาวลออเภสัช และห้างขายยาตราเสือมังกร เป็นผู้สนับสนุน ได้รับความนิยมทั่วประเทศ
ปี พ.ศ.2522 ศักดิ์ โกศล ต้อง เข้าโรงพยาบาลผ่าตัดสันหลัง ทำให้ต้องเลิกจัดรายการโดยเด็ดขาด อยู่กับบ้านเลี้ยงลูกหลานอย่างเดียว ด้านชีวิตส่วนตัว ศักดิ์แต่งงานอยู่กินกับ “ศรีวรรณ เดือนสว่าง” มีบุตร 6 คน ชาย 3 หญิง 3 มีครอบครัวหมดแล้ว
จากนสพ.คมชัดลึก วันจันทร์ที่ 24 มกราคม 2554