ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?


เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ธันวาคม 23, 2024, 02:47:08 am

 


  หน้าแรก  • ช่วยเหลือ  • ค้นหา  • เข้าสู่ระบบ  • สมัครสมาชิก



สถานีวิทยุออนไลน์
สายสัมพันธ์





ท่านสามารถขอเพลงฟังได้
ที่กล่องขอเพลงด้านซ้ายมือ
แต่อาจไม่ได้รับฟังทุกเพลง
เนื่องจากจะรองรับเพลงตามขอ
ของสมาชิกภายในก่อน
หน้า: [1]
 
ผู้เขียน หัวข้อ: ขนมไทย  (อ่าน 6028 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
nongna
ปลดออกจากสมาชิก


คำขอบคุณ: 1731
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
กระทู้: 589
สมาชิก ID: 1301


Level and Hp mod by the DtTvB :: version 1.02 :: Made for Zone-IT.com Level 19 : Exp 68%
HP: 0%

สวัสดีค่ะ


« เมื่อ: มกราคม 23, 2011, 09:25:21 pm »

ขนมไทย

ผู้รู้กล่าวว่า วัฒนธรรมที่ดีควรรับใช้สังคมอย่างมีคุณค่า ทั้งยังสามารถสร้างทัศนคติที่ถูกต้องต่อความเป็นอยู่ ซึ่งสืบต่อกันมายาวนาน กับสามารถบอกถึงค่านิยม และสภาพความเป็นจริงของสังคมนั้นๆ ว่ามีความเจริญงอกงามจากพื้นฐานการดำรงชีวิต เป็นมาอย่างไรได้ด้วย

เราคงไม่ปฏิเสธว่า ขณะนี้สังคมไทยกำลังถูกความเจริญทางวัตถุของยุคโลกาภิวัฒน์ก้าวเข้ามามีบทบาทต่อคนไทยรุ่นใหม่ให้ลืมความเป็นไทยได้อย่างมาก จริงอยู่…โลกาภิวัฒน์เป็นยุคของความเป็นสากล และนานาชาติที่นำความตื่นเต้น น่าสนใจในส่วนดี ตรงที่ทันสมัยทันเหตุการณ์ ทันโลก ทันความต้องการ แต่เราก็ต้องยอมรับด้วยว่า ส่วนดีเหล่านี้ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้วัฒนธรรมดีๆ หลายอย่างของไทย ได้หายไปกับการเปลี่ยนแปลงนั้นด้วย

โดยเฉพาะวัฒนธรรมในการบริโภคขนมหวานแบบไทยๆ ของเด็กยุคใหม่ในวันนี้ ได้ลบเลือนไปจากความทรงจำทีละน้อยๆ ขืนใครพูดถึง น้ำแข็งไส สายไหม แตงเม จะดูล้าสมัยไปหมด สู้ขนมยุคใหม่ ที่เน้นความสะดุดตาในสีสันฉูดฉาด เร้าความสนใจ รสชาติจัดจ้าน เต็มไปด้วยความเป็นวิทยาศาสตร์ ไม่มีประโยชน์ด้านคุณค่าทางอาหาร แต่ราคาแพง เพราะต้องบวกค่าโฆษณาเชิญชวนให้บริโภคจำนวนมหาศาล

เอกลักษณ์ซึ่งแฝงไว้ในขนมไทย หลายลักษณะ เช่น ความละเมียดละไม ความประณีตในการสรรหาส่วนผสมที่ได้จากธรรมชาติแท้ๆ รสอันละมุนลิ้น กลิ่นอันหอมหวานละไมค่อยๆ ห่างหายไปจากคนไทยยุคใหม่ ขณะที่ผู้ใหญ่ในครอบครัวต้องวิ่งเต้นออกไปทำมาหากินให้ทันกับค่าครองชีพยุคเศรษฐกิจตกต่ำสุดขีด แย่งชิงเวลาที่เคยมีให้กับสมาชิกภายในบ้านลดน้อยลง ความรู้ และคำอบรมสั่งสอนอันอ่อนโยนที่เด็กเคยได้รับขณะร่วมกิจกรรมในครัวจากญาติผู้ใหญ่จึงหมดไปด้วย น่าเสียดายจริงๆ

ของหวานที่เรียกว่า ขนมไทยนั้น เป็นภูมิปัญญาอันวิเศษสุดอีกชนิดหนึ่งของไทยที่เราควรรัก หวงแหน สืบทอดเป็นมรดกให้ลูกหลานได้มีส่วนร่วมรับรู้ ในการอนุรักษ์ด้วยจิตสำนึกว่าเป็นสิ่งมีคุณค่าลึกซึ้งทางจิตใจมากมายมหาศาล นับตั้งแต่การเตรียมส่วนผสมไปจนถึงขั้นตอนการปรุงแต่ง ประดิดประดอยจนจบกระบวนการแล้ว จะสร้างความลึกซึ้งด้านสัมพันธภาพ ระหว่างสมาชิกภายในครอบครัวให้อบอุ่น เข้าใจกัน รู้บทบาทหน้าที่ของตนตามฐานะ และวัย ตลอดจนกลุ่มชนย่อยๆ ไปถึงสังคมส่วนใหญ่ให้แน่นแฟ้นขึ้น ฝึกให้รู้จักความร่วมมือ ช่วยเหลือเกื้อกูลด้วย ความรัก ความผูกพัน มีน้ำใจต่อกัน ก่อให้เกิดความสามัคคี เป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกัน ขณะที่ฝ่ายหนึ่งถ่ายทอด แบ่งปันหรือแลกเปลี่ยนความรู้ ความสามารถ เคล็ดลับวิชาเฉพาะตัว สู่อีกฝ่ายหนึ่งได้เรียนรู้ ฝึกฝนจากการปฏิบัติจริงอย่างใกล้ชิด

การทำขนมไทย มีขั้นตอน เฉพาะตัวที่แฝงไว้ซึ่งศิลปะความประณีตบรรจง ความอดทน ความใจเย็น และความรักที่จะทำด้วยหัวใจขณะรังสรรค์ชิ้นงานจนสำเร็จครบถ้วน สะท้อนให้เห็นถึงความเฉลียวฉลาดในการใช้ธรรมชาติให้เกิดประโยชน์มากที่สุดได้อย่างน่าทึ่งครบถ้วน ทั้งศาสตร์ และศิลป์ไม่มีใครเหมือน คนไทยรู้จักอาศัยความหอมจากธรรมชาติแท้ๆ ปราศจากสารสังเคราะห์ ไร้พิษภัย เช่น กลิ่นหอมเย็นจากใบเตย กุหลาบมอญ ดอกมะลิ กลีบกระดังงา และควันจากเทียนอบ

ความสวยงามทางตา อาศัยสีเหลืองจากขมิ้น ฟักทอง ไข่แดง หญ้าฝรั่น สีเขียวเย็นตาจากใบเตย ดอกอัญชันให้สีม่วง ครั่งให้สีแดง กาบมะพร้าวเผาไฟสำหรับสีดำไปจนถึงเทา

พืชในครัวเรือน ปลูกริมรั้วหรือรอบบ้านอย่างมะพร้าว ตาล และอ้อย เป็นตัวให้ความหวานมันของขนม โดยไม่ต้องรอผ่านการฟอกสี แล้วสะสมตกค้างก่อพิษภัยให้ชีวิตเหมือนปัจจุบัน

บางคนอาจจะแย้งว่า การทำขนมไทยมีกรรมวิธีซับซ้อนยากที่จะทำคนเดียวได้ ต้องอาศัยคนมากมาย ข้อนี้แม่เม้าเห็นด้วย แต่อยากจะฝากว่า อะไรที่ยากๆ ก็ปล่อยให้ภาควิชาคหกรรม และโภชนาการ ของสถาบันการศึกษาต่างๆ เขาสอนเยาวชนรุ่นโตไป เราไม่ต้องไปสาธิตการทำลูกชุบหรือละเลงขนมเบื้องให้ลูกหลานดูซีคะ เพราะยุ่งยากมากขั้นตอนต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ และฝีมือ ถ้าถนัดละเลงขนมเบื้องด้วยปากมากกว่าการปฏิบัติแล้วดันทุรังทำเข้า เราจะเสียรังวัดไปเปล่าๆ เราเลี่ยงไปทำขนมง่ายหน่อย ประยุกต์ให้เข้ากับวิทยาการแผนใหม่ให้ขั้นตอนสะดวกรวดเร็วขึ้นกว่าเดิม แล้วเลือกเอาวันหยุดสักวัน เป็นวันครอบครัวของเรา ทำขนมลอดช่องน้ำกะทิ โดยเน้นที่การทำน้ำกะทิ แบบไม่ต้องขูดมะพร้าวด้วยกระต่าย แต่คั้นด้วยน้ำลอยดอกมะลิ ตัวลอดช่องเลือกซื้อจากเจ้าที่พิจารณาแล้วว่าสะอาด ขณะทำ ผู้ใหญ่ก็อธิบายสักนิดถึงกรรมวิธีการเลือกซื้อมะพร้าวที่ขูดใหม่จากเครื่องขูดที่สะอาด น้ำตาลมะพร้าวจะให้รสชาติหอมหวานกว่าน้ำตาลทรายอย่างไร การเติมเกลือช่วยให้น้ำกะทิรสจัดหวานแหลมขึ้น ใบเตยสัก ๓-๔ ใบ ทำให้น้ำกะทิหอมน่ารับประทาน ไม่ควรเคี่ยวน้ำกะทิให้แตกมัน เวลาเติมน้ำแข็งจะเป็นไข  สุดแต่เราจะขยันอธิบาย น่าจะดีกว่าวิธีไปซื้อมาทั้งหมด แล้วต่างคนต่างอยู่คนละมุมบ้าน ก้มหน้าก้มตากิน ไม่พูดอะไรกันสักคำ ทำยังกะโกรธกันมาตั้งแต่ชาติที่แล้ว

ถ้ายากนัก แม่เม้าใจป้ำ ยอมให้ซื้อมาทั้งหมดก็ได้เอ้า…แต่ควรเล่าเรื่องเกี่ยวกับขนมแต่ละชนิดที่กำลังรับประทานให้เด็กๆ ฟังไปด้วย จะเป็นขั้นตอนการทำ การตั้งชื่อ ความเชื่อ ตลอดจนเทศกาลที่ใช้ เช่นคนไทยมักตั้งชื่อขนมให้เป็นมงคลนาม และมีความหมายเสมอ อาทิ ทองหยิบ ขนมทอง กระทงทอง ถุงทอง ทองพลุ ทองเอก ทองม้วน ฝอยทอง ทองหยอด รวมเรียกว่า ขนมเครื่องทอง ใช้สำหรับงานมงคลทุกชนิด เป็นการเสริมสิริมงคลเพราะชื่อมีความหมายในแง่ดี มีเงินมีทองใช้ล้นเหลือ ให้ความสบายใจเวลารับประทาน

ขนมชั้น ขนมถ้วยฟู จ่ามงกุฎ เม็ดขนุน บอกถึงการเลื่อนชั้นตำแหน่ง เฟื่องฟูในเกียรติยศชื่อเสียง มีคนสนับสนุน หนุนเนื่องให้ก้าวหน้าตามชื่อขนม

ขนมสามเกลอ ใช้เสี่ยงทายว่า อนาคตคู่บ่าวสาวจะอยู่กันยืดหรือไม่

ขนมหันตรา หมายถึงการตีตราจองเป็นเจ้าของระหว่างหนุ่มสาว

ขนมเทียน ให้แสงสว่าง อนาคตก้าวไกล

ขนมฝักบัว ถือเอาการพองฟูกลางขนมว่าหมายถึง ความฟูเฟื่อง สูงส่งในชีวิตสมรส

หากลูกหลานคนไหนมันเถียงว่ายุคนิกส์แล้ว อย่างมงายนักเลยละก็ ต้องสอนเขาอย่างใจเย็น มีเหตุผลว่า เรานับถือศาสนาพุทธผสมพราหมณ์ จึงขาดพิธีกรรมต่างๆ ไม่ได้ บรรพบุรุษเราชาญฉลาด สามารถนำพิธีกรรม และความเชื่อมาผสานกับศาสนาได้กลมกลืนอย่างสนิท ใช้สอนเราทั้งทางตรง และทางอ้อมว่า เมื่อมีความเชื่อว่า เมื่อทำแล้วเป็นมงคลกับเราละก็ ความสบายใจ ความปลอดโปร่งใจ และความสุขใจจะหนีไปไหนพ้น คุณค่าบางอย่าง เราหาซื้อไม่ได้ตามท้องตลาด โดยเฉพาะคุณค่าทางใจที่ได้รับจากผู้เป็นที่รัก ก่อเกิดแรงบันดาลใจให้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระราชนิพนธ์กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวานว่า

ช่อม่วงเหมาะมีรส หอมปรากฏกลโกสุม

คิดสีสไบคลุม หุ้มห่อม่วงดวงพุดตาน

ฝอยทองเป็นยองใย เหมือนเส้นไหมไข่ของหวาน

คิดความยามเยาวมาลย์ เย็บชุนใช้ไหมทองจีน

ผู้ทำขนม หากได้อ่านข้อความนี้ จะปลื้มขนาดไหนหนอ?

จุดประสงค์ต่อมาคือ คนไทยทำขนมตามเทศกาล และงานที่จัด เช่น งานมงคลประเภทหมั้น แต่งงาน บวชพระ และบวงสรวงสังเวยเทวดานั้น นอกจากใช้ขนมประเภทเครื่องทองดังกล่าวแล้ว ยังเน้นหรือเสริมด้วย ขนมต้มแดง ต้มขาว เผือกมัน กับ เครื่องกระยาบวช ในกรณีสังเวย ส่วนงานบุญต่างๆ จะแยกไปอีกว่า เทศกาลออกพรรษา ตักบาตรเทโว ใช้ข้าวต้มลูกโยนเป็นหลัก

เทศกาลสงกรานต์ มีข้าวแช่ หอมเย็นชื่นใจไว้ดับกระหายคลายร้อน ขนมเทียน ข้าวเหนียวแดง และกะละแม

สารทไทย เราอุทิศส่วนกุศลให้ญาติผู้ใหญ่ที่ล่วงลับด้วยข้าวกระยาสารทกับกล้วยไข่

งานบุญเลี้ยงคน ขนมที่กินง่าย อร่อยอิ่มทน และไม่ยุ่งยากคือ ไข่กบ นกปล่อยมะลิลอย อ้ายตื้อ เด็กสมัยใหม่อาจจะไม่รู้ว่าไข่กบคือ เมล็ดแมงลัก นกปล่อยคือ ลอดช่อง มะลิลอยคือ ข้าวตอก และอ้ายตื้อคือ ข้าวเหนียวเปียก ทุกอย่างมีน้ำกะทิหวานมันอย่างไทยเป็นหลักค่ะ

เห็นมั้ยคะ แค่ขนมเพียงอย่างเดียว ก็สามารถสื่ออะไรต่างๆ ให้เราทราบเกี่ยวกับ วัฒนธรรม ศาสนา ความเชื่อ ประเพณี ขนบธรรมเนียมอันทรงคุณค่าทางประณีตศิลป์ของบรรพบุรุษไทยในอดีต สู่ลูกหลานได้อย่างฉลาดล้ำ เพียบพร้อมด้วยหลักจิตวิทยา ประสานประโยชน์ให้สังคมไทยดำรงอยู่ได้นานแสนนาน แม่เม้าได้แต่งหวังว่าเมื่อเรารับรู้ต้องเร่งร่วมมือกันอนุรักษ์สิ่งดีงามเหล่านี้ไว้ให้คงอยู่ตลอดไป ช่วยกันหน่อยนะคะ เพราะวัฒนธรรมคือ ลมหายใจอันสุนทรีย์ของชาติบ้านเมืองค่ะ

สมาชิกใหม่ทุกท่าน >>> กดที่นี่

ท่านเป็นเช่นนี้หรือไม่ ?
1 login ... เข้าเวป
2 หาเพลงโหลด
3 มีให้โหลด ตอบเพื่อโหลด ไม่มีให้โหลด ไปข้อ4
4 logout ... ไปดีกว่า
อา-ราย-หว่า ???

บันทึกการเข้า

สวัสดีค่ะคุณผู้เยี่ยมชมยินดีที่ได้รู้จักนะคะ
หน้า: [1]
 
 
กระโดดไป:  






Saisampan.net
สายสัมพันธ์ - เพลงลูกทุ่งเก่า (เก่ากว่าที่ท่านคิด)
Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2011, Simple Machines Valid XHTML 1.0! Valid CSS!