เพลงน้ำใจชาวเหนือ เพลงน้ำใจชาวเหนือ เป็นเพลงดัดแปลงทำนอง
สร้อยลำปางที่ดังกว่าเพลงหนุ่ม อบต. มาก ครูพยงค์ มุกดา (ศิลปินแห่งชาติ) เป็นผู้แต่ง แต่ท่านมิได้นำเอาทำนองมาจากเพลงสร้อยลำปางเพลงเดียว ท่านยังนำเอาทำนองเพลง "พม่าเขว" มาผสมด้วย เพลงน้ำใจชาวเหนือจึงประกอบด้วยทำนองไทยเดิมถึง ๒ ทำนองคือ
"สร้อยลำปาง" กับ "พม่าเขว" โดยท่อน ๑ และ ๓ นำมาจากเพลงสร้อยลำปาง ๒ ชั้น ส่วนท่อน ๒ และ ๔ ของเพลงน้ำใจชาวเหนือมาจากเพลงพม่าเขวชั้นเดียว
การริเริ่มนำเพลงทำนองไทยเดิมที่มีอัตราจังหวะต่างกัน (คือ ๒ ชั้นและชั้นเดียว) มาทำเป็นเพลงไทยสากลจังหวะเดียวกันในเพลงน้ำใจชาวเหนือของครูพยงค์ มุกดา เป็นความริเริ่มที่แปลกมาก และเป็นต้นแบบให้กับการดัดแปลงทำนองไทยเดิมมาเป็นเพลงไทยสากลอีกหลายสิบเพลงที่ดำเนินการในลักษณะอย่างนี้ในภายหลัง
ท่านผู้อ่านคงจะเห็นแล้วว่าจังหวะในเพลงไทยเดิม (หรือของเพลงชาติไหนก็เถอะ) เป็นเรื่องสมมุติ คือสมมุติว่าเป็นจังหวะ ๒ ชั้น หรือชั้นเดียว สำหรับเพลงไทยเดิมกำหนดให้ตีฉิ่งตามจังหวะที่สมมุติ แต่จะไม่ตีตามนั้นก็ได้ เช่นเพลง ๒ ชั้น จะตีฉิ่งเป็นแบบชั้นเดียวก็ย่อมทำได้ แม้จะผิดแบบแผนดนตรีไทย แต่ก็ฟังเป็นเพลงที่มีจังหวะสม่ำเสมอได้เหมือนกัน ทั้งนี้เพราะจังหวะที่แท้จริงของเพลงคือ
"จังหวะสามัญหรือจังหวะธรรมดา" ที่ดำเนินไปอย่างสม่ำเสมอตลอดทั้งเพลง โดยอาจกำหนดจังหวะในใจ หรือปรบมือ เคาะเท้า หรือใช้เครื่องมือ (เช่น Metronome เครื่องจับจังหวะ) หรือเครื่องดนตรีใดก็ได้ มิใช่จังหวะสมมุติเช่นจังหวะฉิ่งหรือจังหวะหน้าทับ