ครูพรานบูรพ์ (จวงจันทร์ จันทร์คณา) ครูพรานบูรพ์มีชื่อเดิมว่า นายจวงจันทร์ จันทร์คณา เป็นบุตรของหลวงราชสมบัติ (จันทร์) และนางสร้อย เกิดเมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ.๒๔๔๔ ณ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี มีน้องสาวร่วมบิดามารดาหนึ่งคน คือ นางสังวาล มณิปันติ เนื่องจากบิดาเป็นข้าราชการซึ่ง่ต้องโยกย้ายไปรับราชการตามจังหวัดต่างๆ เมื่อถึงวัยที่จะต้องเข้ารับการศึกษา บิดาได้ย้ายมาจังหวัดราชบุรี ด.ช.จวงจันทร์จึงได้เข้าเรียนที่วัดสัตนาถ เรียนอยู่ได้ไม่นานบิดาก็ถึงแก่กรรม ขณะนั้นอายุได้ ๗ ปี มารดาได้พาไปอยู่ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้เรียนหนังสือต่อจนอายุ ๑๑ ปี จึงได้เข้ามาเรียนต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
ระหว่างที่ศึกษาอยู่ที่โรงเรียนสวนกุหลาบฯนั้น นอกจากจะได้รับเลือกเข้าเล่นฟุตบอลในทีมโรงเรียนแล้ว ยังสามารถเล่นไวโอลินได้ดีอีกด้วย เมื่อจบจากสวนกุหลาบฯ ได้เข้าศึกษาต่อที่จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ในคณะรัฐประศาสน์ (รัฐศาสตร์) แต่เรียนไม่สำเร็จเพราะสนใจในด้านการประพันธ์และดนตรีมากกว่า
ระยะนั้นเป็นระยะที่คณะละครชาตรีพัฒนาเดินทางกลับจากอเมริกา จึงได้เริ่มชีวิตละครด้วยการบอกบทอยู่หลังฉาก ขณะเดียวกันก็เริ่มบทกวีในนาม “อำแดงขำ” เรื่องอ่านเล่นในนามปากกา “รักร้อย” ลงในหนังสือยุคนั้น และนามปากกา “ศรี จันทร์งาม” ในหนังสือ “เนตรนารี” ต่อมาได้แต่งบทละครเรื่อง “ทะแกล้วสามเกลอ” ขึ้นเป็นเรื่องแรกได้รับความสำเร็จเป็นอย่างดี จนได้เป็นผู้แต่งบทละครเองและกำกับการแสดงเอง และได้ใช้นามปากกา “พรานบูรพ์” เป็นครั้งแรกเมื่อเขียนเรื่อง “เหยี่ยวทะเล”
เนื่องจากบทละครของพรานบูรพ์เป็นที่นิยมของคนดู พรานบูรพ์จึงได้ดัดแปลงเพลงไทยเดิมที่มีลูกคู่ร้องรับมาสู่แบบสากล โดยที่ทำนองเพลงที่ใช้กับละครร้องยุคนั้นทีลูกคู่ยืดยาดเกินควร จึงใส่เนื้อร้องให้เต็มแทนลูกคู่ ใช้ดนตรีคลอฟังทันหูทันใจ จึงเป็นที่นิยมของประชาชนคนดูมาก
เมื่อคณะละครราตรีพัฒนายุบคณะลง เพราะเจ้าของมีภารกิจด้านโรงภาพยนตร์เพิ่มขึ้น พรานบูรพ์จึงได้เข้าทำงานหนังสือพิมพ์ โดยประจำกองบรรณาธิการเดลิเมล์รายวัน และเขียนเรื่องสั้น, เรื่องยาว และบทพากย์การ์ตูนในหนังสือพิมพ์เดลิเมล์วัจันทร์
ต่อมาได้จัดตั้งละครขึ้นคณะหนึ่งให้ชื่อว่า “ศรีโอภาส” ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น “จันทโรภาส” ละครที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือเรื่อง “จันทร์เจ้าขา”
พรานบูรพ์เป็นผู้ริเริ่มทำบทพากย์ภาพยนตร์ การพากย์ในยุคแรกนั้นเป็นการเล่าเรื่องหน้าจอให้ผู้ดูฟังก่อนหนังฉาย ต่อมาก็เป็นการพากย์แบบโขนให้แก่หนังแขก เรื่องแรกที่เข้ามาฉายคือเรื่องรามเกียรติ์ และต่อมาก็เป็นการพากย์แบบปัจจุบันโดยมีดนตรีประกอบด้วย ภาพยนตร์เรื่องแรกที่มีการพากย์แบบใหม่คือ อาบูหะซัน มีทิดเขียว (สิน สีบุญเรือง) เป็นผู้พากย์เป็นคนแรก
ในด้านภาพยนตร์ พรานบูรพ์ได้สร้างบทภาพยนตร์ให้กับบริษัทภาพยนตร์ “ศรีกรุง” หลายเรื่อง เช่น ในสวนรัก, อ้ายค่อม, ค่ายบางระจัน และบทภาพยนตร์ สนิมในใจ, สามหัวใจ, แผลเก่า ให้กับบูรพาศิลป์ภาพยนตร์ และได้สร้างภาพยนตร์เอง เช่น วังหลวง-วังหลัง ฯลฯ ในระยะหลังแม้จะสูงวัยก็ยังคงทำบทพากย์ภาพยนตร์ สคริพท์หนังไทย และบทละคร
ทางด้านชีวิตครอบครัว ได้สมรสกับนางศรี จันทร์คณา มีบุตรธิดา ๔ คน คือ
๑ นายจารุ จันทร์คณา
๒ น.ส.จุไร จันทร์คณา
๓ น.ส.จามรี จันทร์คณา
๔ น.ส.จริยา จันทร์คณา
และมีบุตรที่เกิดจากนางเทียมน้อย นวโชติ ๑ คนคือ นายจงรัก จันทร์คณา
ภายหลังเมื่อภรรยา (ศรี จันทร์คณา) ถึงแก่กรรม สุขภาพก็ทรุดโทรมเรื่อยมา แต่ก็ยังพยายามเขียนบทละครเรื่อง “ขวัญใจโจร” ให้คณะละครคณะหนึ่งที่มาขอไว้เพื่อจะนำไปแสดงทางโทรทัศน์จนจบ และถึงแก่กรรมด้วยระบบลมหายใจล้มเหลว เมื่อวันที่ ๖ มกราคม พ.ศ.๒๕๑๙ อายุได้ ๗๔ ปี บริบูรณ์ ข้อมูลจากหนังสืออนุสรณ์งานศพพรานบูรพ์ (๑๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๑๙)