หวานเป็นลมขมเป็นยา เรามักได้ยินคำนี้บ่อยครั้งเพื่อเป็นเครื่องเตือนสติสำหรับผู้ที่ไม่ชอบของขมจำพวกผัก ยา หรืออีกนัยก็เป็นการปรามให้กินหวานให้น้อยลงถ้าไม่อยากเจ็บป่วย รสขมมีประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกาย ใช้รักษาอาการไข้ แก้อ่อนเพลีย กระตุ้นน้ำย่อย ช่วยให้เจิรญอาหาร ระงับประสาท ช่วยให้นอนหลับ บำรุงน้ำดีและเลือด แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้โลหิตเป็นพิษ ดีพิการ เพ้อคลั่ง หากรับประทานมากไปทำให้กำลังตกอ่อนเพลีย แสลงกับโรคหัวใจพิการและลมจุกเสียด
รสขมนับมีบทบาทเด่นในการรักษาโรค อาทิ ไข้ต่างๆ ไข้ตามการแพทย์แผนไทยนั้นมีทั้งไข้แบบตัวร้อนและตัวเย็นสมุนไพรที่ใช้ลดไข้โดยส่วนมากเป็นสมุนไพรที่มีรสขม ตำรับยาสามัญประจำบ้านที่ประกาศใช้มาจนถึงทุกวันนี้ก็มีตำรับยาลดไข้หลายตำรับ อาทิ ยามหานิลแท่งทอง และยากวาดแสงหมึก ใช้กวาดคอเด็ก แก้ไข้เด็กแรกเกิด ยาประสะจันทร์แดง หรือยาจันทลีลา ใช้กับเด็กโตหรือผู้ใหญ่ กระทุ้งไข้ให้ออกเร็วขึ้น ยาสามัญประจำบ้านเหล่านี้มีขายทั่วไป
สมุนไพรที่มีรสชาติขมนั้นมีจำนวนมากมาย รวมถึงผักชนิดต่างๆ ที่นำมาใช้ปรุงอาหารและใช้เป็นยารักษาโรค ได้แก่ เถาบอระเพ็ด รสขม บำรุงน้ำดี แก้ไข้ แก้กระหายน้ำ ลูกกระดอม รสขม แก้ไข้ บำรุงน้ำดี เจริญอาหาร เถาชิงช้าชาลี รสขม แก้ไข้เพื่อดี ไข้กำเดา ดับพิษไข้ ดับพิษโลหิต บำรุงน้ำดี เจริญอาหาร ลูกขี้กาแดง รสขม ถ่ายพิษเสมหะ แก้พิษตานซาง แก้ตานขโมย
ลูกมะแว้ง รสขม แก้ไอ แก้เสมหะ แก้น้ำลายเหนียว บำรุงธาตุ ดีสัตว์ต่างๆ รสขม บำรุงน้ำดี บำรุงโลหิต ขับยาให้แล่นเร็ว ดีงูดัน รสขม แก้ไข้จับสั่น ตัดไข้จับ แก้พิษไข้ บำรุงน้ำดี รากระย่อมน้อย รสขม เจริญอาหาร แก้กาฬเลือด ระงับประสาท ช่วยย่อยอาหาร แก้ไข้ สะเดาทั้งห้า รสขม แก้ไข้จับสั่น ไข้ตัวร้อน บำรุงโลหิต บำรุงไฟธาตุ แก้คลื่นเหียนอาเจียน
ลูกราชคัต รสขม แก้กษัย บำรุงน้ำดี บำรุงน้ำเหลือง แก้อาเจียนเป็นโลหิต แก้บิดมีตัว หญ้าใต้ใบ รสขม แก้ไข้ร้อนใน แก้พิษตานซาง บำรุงน้ำดี แก้ตับไตพิการ หญ้าแพรก รสขม แก้ร้อนใน แก้ไข้หวัด แก้คันตามผิวหนัง ดับพิษร้อน หัวหวายขม รสขม แก้ไข้เพื่อดีและโลหิต บำรุงน้ำดี แก้ไข้ที่มีพิษร้อน ต้นน้ำนมราชสีห์ รสขม บำรุงน้ำนม แก้ตานซาง บำรุงกำลัง เมล็ดมะนาว รสขม แก้ไข้ตานซาง แก้ซางชัก ดังพิษร้อน ถอนพิษไข้ แก่นขี้เหล็ก รสขม แก้กล่อม แก้บวม ถ่ายกษัย กระจายเลือดลมบำรุงโลหิต รากพญายา รสขม แก้ไข้ เพื่อเลือดและลม แก้กษัย บำรุงน้ำดี บำรุงโลหิต รากคนทา รสขม แก้ไข้เส้น แก้ไข้พิษ ไข้กาฬ ไข้ตักศิลา กระทุ้งพิษไข้เหนือ รากมะคำไก่ รสขม แก้กษัย ทำให้เส้นเอ็นหย่อน แก้ไข้เส้นไข้เพื่อโลหิต
รากซิงชี่ รสขม แก้ไข้เพื่อดีและโลหิต ไข้พิษไข้กาฬ ไข้ตักศิลา เพกา เป็นผักชนิดหนึ่งที่เรารู้จักนำมาบริโภคแต่เด็กรุ่นใหม่ๆ อาจจะไม่รู้จัก มีสรรพคุณทุกส่วนล้วนเป็นยา ได้แก่ ฝักอ่อน รสขมร้อน ขับผายลม ฝักแก่รสขม แก้ร้อนในกระหายน้ำ เมล็ดแก่ รสขม ระบายท้อง แก้ไอขับเสมหะ เปลือกต้นรสฝาดขมเย็น สมานแผล ดับพิษกาฬ แก้ร้อนใน แก้ท้องร่วง ทำให้น้ำเหลืองปกติ ดับพิษโลหิตตำผสมสุราพ่นตามตัว สตรีที่ทนการอยู่ไฟไม่ได้ ให้ผิวหนังชาตำผสมกับน้ำส้มมดแดง กับเกลือสินเธาว์ รับประทานขับลมในลำไส้ แก้บิด แก้อาเจียนไม่หยุด ต้มรับประทานแก้เสมหะจุกคอ ขับเสมหะ ขับเลือดเน่าในเรือนไฟ บำรุงโลหิต ฝนกับสุรา กวาดปาก แก้พิษซาง เม็ดสีเหลือง แก้ละออง แก้ซาง ทาแก้ปวดฝี แก้ฟกบวม รากรสฝาดขม บำรุงธาตุ ทำให้เกิดน้ำย่อยอาหาร แก้ไข้สันนิบาต แก้ท้องร่วง ฝนกับน้ำปูนใส ทาแก้อักเสบ ฟกบวม
มะระขี้นก มีทั้งมะระจีนซึ่งขมน้อย และมะระขี้นกซึ่งขมมาก โดยเฉพาะมะระขี้นกนั้นตอนนี้เป็นผักสมุนไพรที่ได้รับความสนใจสูง เพราะเชื่อว่าสามารถรักษาโรคเอดส์ได้ แม้ยังไม่มีรายงานที่ชัดเจน แต่คนที่เป็นโรคเอดส์ก็สามารถบริโภคเป็นอาหารและยาในการบำรุงรักษาสุขภาพได้ นอกจากนี้ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน โรคนอนไม่หลับ มะระขี้นกก็ช่วยบำบัดได้ แต่ต้องระวังอย่าบริโภคเกิน 10 ลูกใน 1 วัน เพราะพวกรสขมนี้จะไปทำให้ร่างกายเย็นขึ้น กินมากก็เกินสมดุลเป็นอันตรายได้ มะระมีรสขม แก้พิษได้ แก้ฟกบวม บำรุงน้ำดี แก้ปวดตามข้อ แก้ไข้
ลูกมะคำดีควาย แม้น้อยคนจะรู้จักหน้าค่าตาของสมุนไพรชนิดนี้ แต่ชื่อและสรรพคุณในเรื่องเสริมความงามของเส้นผม ก็ต้องนึกถึงสมุนไพรชนิดนี้เป็นอันดับต้นๆ แชมพูหลายยี่ห้อตามท้องตลาดก็มักมีสูตรมะคำดีควายวางจำหน่าย มีรสขม แก้กาฬภายใน แก้พิษตานซาง แก้ชันนะตุ
สะเดา พูดถึงสะเดาก็ต้องนึกถึงสะเดาน้ำปลาหวาน สะเดาออกดอกในช่วงหน้าหนาวกินแก้ไข้ดี ช่วยให้นอนหลับสบายขับถ่ายคล่อง นับเป็นผักรสขมที่มีเมนูอาหารฮิตติดชาร์ตความนิยม แต่ไปถามวัยรุ่นเด็กรุ่นใหม่ใครกินสะเดาน้ำปลาหวานบ้าง คงหาได้ยากเต็มที สรรพคุณส่วนต่างๆ ของสะเดาที่เรานำมาใช้ประโยชน์ ดอก ยอดอ่อน แก้พิษโลหิต กำเดา แก้ริดสีดวงในลำคอ คันดุจมีตัวไต่อยู่ บำรุงธาตุ ขับลม ใช้เป็นอาหารผักได้ดี เปลือกต้นแก้ไข้ เจริญอาหาร แก้ท้องเดิน บิดมูกเลือด ก้านใบแก้ไข้ ทำยารักษาไข้มาลาเรีย กระพี้แก้ถุงน้ำดีอักเสบ แก่นแก้อาเจียน ขับเสมหะ รากแก้โรคผิวหนัง แก้เสมหะ ซึ่งเกาะแน่นอยู่ในทรวงอก ใบเป็นยาฆ่าแมลง บำรุงธาตุ ผลมีสารรสขม ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิและยาระบาย แก้โรคหัวใจเดินผิดปกติ เปลือกรากเป้นยาฝาดสมาน แก้ไข้ ทำให้อาเจียน แก้โรคผิวหนัง น้ำมันจากเมล็ดใช้รักษาโรคผิวหนัง และยาฆ่าแมลง ฟ้าทะลายโจร ทั้งต้นรับประทานแก้ไข้ แก้หวัด แก้ต่อมทอนซินอักเสบ แก้ปวดอักเสบ แก้บิด แก้ท้องเดิน ต้มกับเบญมาศสวน ดื่มแก้ไส้ติ่งอักเสบ ลดความดันเลือดใช้แทนยาปฏิชีวนะ ไม่ควรใช้ติดต่อกันนานเกินไป เนื่องจากฟ้าทะลายโจรจะทำลายจุลินทรีย์ที่อยู่ในกระเพาะอาหารผู้ที่เป็นโรคความดันต่ำ เป็นโรคหัวใจไม่ควรใช้ นำใบบดผสมกับน้ำมันพืชทาแผลน้ำร้อนลวกไฟไหม้ ใบสดนำมาเคี้ยวกลืนแก้เจ็บคอ แก้คออักเสบ
บัวหลวง ทุกส่วนของต้นบัวหลวงนำไปใช้ประโยชน์ได้มากมาย มีรายงานการวิจัยว่า ส่วนต่างๆ ของบัวหลวงมีสารประกอบที่มีสรรพคุณเป็นยาได้ โดยเฉพาะสารแอลคาลอยด์ (alkaloid) หลายชนิดที่มีฤทธิ์ต่อการขยายหลอดเลือดที่เลี้ยงหัวใจ เกสรบัวมีสารฟลาโวนอยด์ (flavonoid) ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ส่วนราชการ เหง้าและเปลือกผล พบสารแทนนิน (tannin) ที่มีฤทธิ์ยับยั้งอาการท้องเดิน รากบัวยังมีแคลเซียม (calcium) และเมล็ดบัวมีไขมันเพิ่มพลังงาน บำรุงข้อและเส้น
สรรพคุณยาตามตำราการแพทย์แผนไทย ได้แก่ ใบอ่อน บำรุงร่างกายให้ชุ่มชื้น ใบแก่แก้ไข้ บำรุงโลหิต ลดเสมหะ มีรายงานว่าต้มน้ำใบบัวนำไปดื่มติดต่อกัน 20 วัน จะช่วยลดความดันโลหิตและไขมันในเส้นเลือดลงได้ ดอกแก้ไข้ แก้เสมหะ บำรุงโลหิตและหัวใจ บำรุงครรภ์ทำให้คลอดบุตรง่าย
ดอกบัวสดสีขาวต้มกับน้ำดื่มติดต่อกันหลายวัน ทำให้หายอ่อนเพลีย สดชื่นขึ้น ลดอาการใจสั่น เกสรมีกลิ่นหอม แก้ไข้อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน เกสรตัวผู้ใช้บำรุงยาหอม เป็นยาบำรุงหัวใจและประสาท เมล็ดบำรุงกำลัง ไขข้อ เส้นเอ็นและประสาท แก้ร้อนในกระหายน้ำ แต่แสลงกับโรคไอมีเสมหะ ดีบัวหรือต้นอ่อนในเมล็ด มีสรรพคุณยาสูงมากและสามารถพัฒนาเป็นยาขยายหลอดเลือดหัวใจ ดีบัวอบแห้งมีจำหน่ายตามร้านขายยาจีนและนำไปชงน้ำร้อน ก้านดอกตากแห้งสูบแก้ริดสีดวงจมูก ก้านใบเป็นยาห้ามเลือด รากบำรุงกำลัง แก้กระหายน้ำ แก้ไข้ ท้องเสีย อ่อนเพลียและอาเจียน เหง้าแก้ร้อนใน เสมหะ ฝีพุพอง ทั้งต้นแก้พิษจากการกินเห็ดพิษ และพิษจากอาการพิษสุราเรื้อรัง ใช้ทั้งต้น 10-15 กรัม นำไปต้มรับประทาน นี่เป็นเพียงตัวอย่างของสมุนไพรรสขม จริงๆ แล้วยังมีอีกหลายชนิดซึ่งอาจจะไม่ใช่พืชผักสมุนไพรที่เป็นที่รู้จักทั่วไปอย่างกว้างขวาง และอาจเป็นตัวยาที่ไปเข้ากับตำรับอื่นๆ แต่ในแง่ของผักและอาหารนั้นเพียงไม่กี่ชนิดอย่างมะระ ขี้เหล็ก สะเดา ฟ้าทะลายโจร อย่างนี้ก็มากด้วยคุณค่าจนไม่อาจมองผ่านสมุนไพรรสขมเหมือนที่ผ่านมาได้อีกแล้ว.