บทความ ตลอดจนเพลงที่นำเสนอนี้ คัดลอกมาจากนิตยสาร The Sound ฉบับที่ 30 มีนาคม 2544
โดยคุณจงจินต์ เสรีรักษ์(เปลี่ยนชื่อเป็นธนกฤต) เจ้าของนามปากกา เจเจ และเด็กวัด ซึ่่่งเป็นที่รู้จัก
และนับถืออย่างยิ่งในวงการเครื่องเสียงบทเพลงบรรเลงสวด
พิธีกรรมทางศาสนาทั่วไป มักจะมีดนตรีเข้ามามีบทบาทเสมอ ด้วยเสน่ห์ของดนตรีนั้น ไม่มีพิษภัยใดๆ
ทั้งสิ้น ทั้งเชื่อว่่าเป็นยาิวิเศษขนานเอก ซึ่่งสามารถใช้รักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ อย่างน้อยก็บรรเทา
ความเครียดางจิตใจ แ้ล้วส่งผลไปยังร่างกาย วิทยาศาสตร์แขนงใหม่ก็หันมาให้ความสนใจเรื่องนี้มากขึ้น
ธรรมดาของการสวดมนต์ ไม่ว่าของศาสนาใด ศาสนิกชนที่ร่วมในพิธีนั้นมักจะกระตือลือล้นในการฟังเพียงช่วงสั้นๆ
ด้วยเหตุที่ส่วนใหญ่หรือทั้งหมด ไม่สามารถเข้าใจถ้อยคำที่พระท่านสวด ฟังกันงูๆปลาๆไปตามประเพณี
พระบางรูปหรือส่วนใหญ่ก็สวดตะเบ็งเป็นนกแก้วนกขุนทอง ไม่รู้เรื่องพอๆกัน
แต่ถ้าต้องนั่งฟังพระสวดมนต์นานเกินพอดีหรือดีเกินทน มันก็ออกจะรับไม่ไหว เริ่มอึดอัดขัดใจเสียแล้ว
บ้างก็หาวเรอง่วงนอน บ้างก็มีอาการปวดเมื่อยแขนขา กระสับกระส่ายไม่เป็นกระบวนไปทั้งศาลา
ทีนี้ ถ้านำเอาเครื่องดนตรีมาประกอบการสวดมนต์ มีจังหวะจะโคนเสียหน่อย มีท่วงทำนองเมโลดี้ที่ไพเราะบ้าง,
คึกคักบ้าง ว่ากันพอหอมปากหอมคอ ไม่ให้ฟุ่มเฟือยเกินงาม ไม่เอิกเกริกเกินควร ผลที่ได้ก็น่าจะเป็นที่พอใจของทุกฝ่าย
อุบาสกอุบาสิกาก็ฟังกันเพลิน บางทีก็เป็นการเชิญชวนให้น่าฟังเข้าไปอีก ฟังแล้วก็ไพเราะ ทำให้เกิดความสบายใจตามมา
ทำให้จิตใจสงบเยือกเย็น ลดความเร่าร้อนลงไปได้มาก
นี่เป็นกุศโลบายอีกทางหนึ่งที่จะทำให้การสวดมนต์เป็นที่พอใจของศาสนิกชน ในขณะที่พระท่านก็สามารถดำรงพิธีกรรมที่เป็นส่วนเสริมโครงสร้างของพระศาสนาไว้ได้เช่นกัน ได้ประโยชน์กัน
ทั้งสองฝ่าย ขึ้นชื่อว่าดนตรีแล้ว เป็นโทษภัยคงไม่มี ด้วยมีเจตนาที่บริสุทธิ์เป็นที่ตั้ง มันก็สมควรแก่เหตุละครับ
จะเห็นได้ว่าการสวดมนต์ทางมหายาน จึงมีเครื่องดนตรีเป็นส่วนประกอบ ซึ่งสอดคล้องกับคัมภีร์ที่อ้างคำตรัสของพระศากยมุนีในเรื่องนี้เอาไว้ แม้ว่าอรรถกถาจารย์หลายท่านจะอ้างว่า คัมภีร์ของมหายานในบางส่วนเขียนขึ้นภายหลังก็ตาม แต่ก็น่าจะอนุโลม
ให้เป็นกุศโลบายที่ควรรับฟัง ทั้งนี้ ไม่ได้ทำให้เนื้อหาในหลักการเสียหายไป แถมยังเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้การรักษาไว้
้ซึ่งคำสวดในพระคัมภีร์ที่ล้วนเป็นคำสอนของพระศาสนา มีอายุสืบต่อยืนยาวไปถึงอนุชนรุ่นหลังได้อีกทางหนึ่ง
อัลบั้มซีดี “ บทเพลงบรรเลงสวด ” ที่นำเสนอในคราวนี้ก็ประมาณนั้น
หากแต่สีสันดนตรีจะค่อนมาทางยุคสมัยมากขึ้น ก็แน่ละครับ เขาเจตนาจะให้คนรุ่นใหม่ได้รับฟัง ไม่ได้ผลิตออกมาเพื่อคนที่ตายแล้ว
มันก็ต้องว่ากันไปตามยุคตามสมัย อย่าคิดอะไรให้หนักหนาสาหัสสากรรจ์เลย
ดนตรีในอัลบั้มเหล่านี้จึงมีเครื่องอีเล็กโทน เครื่องไฟฟ้าซินธิไซเซอร์เข้ามาเสริมแต่งบ้าง แต่จุดใหญ่ใจความอยู่ที่เนื้อหาสาระ
ของบทเพลงที่ดัดแปลงมาจากบทสวด หรือบทสรรเสริญระลึกพระคุณต่างๆ สำคัญเหนืออื่นใดก็คือ บทเพลงเหล่านี้
มีเมโลดี้หรือท่วงทำนองที่ไพเราะ เยือกเย็นและผ่อนคลาย สมกับเป็นบทเพลงอันศักดิ์สิทธิ์
การนำบทสวดมาไล่เสียงเรียงสำเนียงสวดสูงต่ำเป็นทำนอง ประกอบดนตรีที่มีระเบียบเรียบง่าย ด้วยสำเนียงการขับขานเสียงประสาน
เป็นกลุ่มทั้งหญิงชาย ซึ่งเป็นสำเนียงของชาวตะวันออกโดยตรง ก็ยิ่งถูกจริตกับคนไทยเป็นที่สุด
ในช่วงต้นๆของบทความพิเศษนี้ ผมได้แสดงความนัยให้เห็นคุณค่าของดนตรี ในแง่ของอิทธิพลที่มีต่อจิตใจเป็นสำคัญ มันมีอานุภาพในการบำบัดและรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ในบางกรณี และแน่นอนที่สุด มันมีอานุภาพในการเสริมสร้าง
ความเข้มแข็งทางจิตใจ ช่วยลดความวุ่นวายฟุ้งซ่านได้ดีเยี่ยม
“ บทเพลงบรรเลงสวด ” ที่วางจำหน่ายในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเทปคาสเซ็ทท์หรือแผ่นซีดี, วีซีดี มีด้วยกันหลายอัลบั้ม
ซึ่งบางส่วนก็มีเนื้อหา (คำสวดที่นำมาขับขานเป็นท่วงทำนอง) ซ้ำกันบ้าง แตกต่างก็เพียงท่วงทำนองจังหวะและเมโลดี้
รวมถึงภาษาที่ใช้ขับขาน ส่วนใหญ่จะเป็นบทสรรเสริญพระคุณพระโพธิสัตว์ที่สำคัญหลายๆพระองค์
( ซึ่งได้ให้รายละเอียดเอาไว้บ้างแล้ว ในบทความพิเศษคราวก่อน) ล้วนเป็นพระโพธิสัตว์ที่พุทธศาสนามหายานให้ความสำคัญอยู่มากผมจะไม่ลงลึกไปในรายละเอียดทั้งหมด
แต่ขออนุญาตแนะนำไว้เป็นตัวอย่าง เพื่อการลองฟังสักสองสามชุด ซึ่งในแต่ละอัลบั้มนี้ ราคาขายไม่น่าจะเกิน 180 บาท ถือว่าคุ้มค่าเงินเหลือเกินเมื่อเปรียบเทียบกับคุณค่าที่ได้รับ ลองพิจารณาเอาตามอัธยาศัยเถิด ๑. สรรเสริญพระอมิตาภะ
( เออหมีโถโฟ) Aifa Records AD-35003
ลงว่าเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนามหายาน หากล่วงพ้นไม่กล่าวถึงพระนามพระอมิตภะหรือพระอมิตายุสเสียเลย ก็น่าจะพูดได้ว่า ยังไม่ได้กล่าวถึงพุทธศาสนามหายานโดยแท้จริง
อัลบั้มซีดีชุดนี้ นับเป็น “ บทเพลงบรรเลงสวด ” ที่น่าฟัง ให้สีสันดนตรีและบทสรรเสริญที่นำมาเรียบเรียง
เป็นคำร้องได้อย่างไพเราะงดงาม มีบรรยากาศที่ถ่ายทอดออกมา ซึ่งบ่งบอกถึงความอัครฐานและยิ่งใหญ่
ในพุทธบารมีขององค์พระอมิตาภะได้อย่างชัดเจน เนื้อหาสาระของบทเพลงนั้น
ยกย่องสรรเสริญพระคุณของพระองค์ท่าน ซึ่งมีพระมหากรุณาธิคุณต่อมวลมนุษย์อย่างใหญ่หลวง
พาสรรพเวไนยสัตว์ให้ข้ามพ้นความทุกข์ ผ่านพ้นความเร่าร้อนสู่ความสงบร่มเย็น
ถ้ามองในแง่ปรัชญาธรรม น่าจะหมายถึงดินแดนที่พระองค์ทรงเป็นประธาน นั่นคือแดนสุขาวดีพุทธเกษตรมณฑล
เปรียบเสมือนเป็นดินแดนนิพพานในทางหินยาน
ในหลายคัมภีร์พรรณนาความถึงดินแดนสุขาวดี วิจิตรพิศดารล้ำเลิศเหนือกว่าสรวงสวรรค์ชั้นพรหม
หากผู้คนที่ได้กระทำแต่ความดี มีจิตใจอันบริสุทธิ์และศรัทธาในพระองค์อย่างแรงกล้า เมื่อถึงอายุขัย
พระองค์ก็จะโปรดให้ไปจุติอยู่ในดินแดนของพระองค์ ไม่มีความทุกข์ใดๆอีก
นี่เป็นกุศโลบายทางธรรมที่ชักชวนให้ผู้คน มีความเมตตาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน หมั่นทำแต่ความดีงาม
แม้จะเป็นกุศโลบายระดับต่ำ แต่เมื่อมองถึงเจตนารมณ์ที่สุดแล้ว ก็เป็นอีกทางหนึ่งในหลายๆทางซึ่งไม่มีพิษภัยใดๆทั้งสิ้น
ดนตรี (จีน) ที่เล่นประกอบครบเครื่องทีเดียว ทั้งเครื่องเคาะและเครื่องสาย แนวทำนองจะค่อนไปทางช้า สุภาพ
ราบเรียบ ไม่ฉูดฉาด แยกแยะกลุ่มขับร้องเป็นหมู่ชายและหญิงซึ่งได้บรรยากาศโอ่อ่าโอ่โถง
คำร้องทั้งหมดเป็นภาษาแมนดาริน (จีนกลาง)
แรกที่ฟัง คงไม่มีจุดเด่นอะไรให้ติดอกติดใจกันในทันที แต่หากคุ้นเคยกับท่วงทำนองของเพลงแล้ว เชื่อเหลือเกินว่าหลายๆท่าน
คงต้องหยิบอัลบั้มซีดีชุดนี้มาฟังบ่อยขึ้น จะด้วยเหตุผลใด ก็ต้องหาคำตอบด้วยการลองฟังด้วยตนเองนะครับ
ความยาวตลอดทั้งแผ่นประมาณ 44 นาทีเศษ แบ่งออกเป็นสองแทร็ค เพลงแรกเป็นการชับร้องหมู่ชายหญิง
เดินเนื้อหาของเพลงด้วยสำเนียงจีนกลางอย่างที่ว่าไว้ ส่วนเพลงที่สองก็เล่นทำนองบรรเลง (จีน) ล้วนๆ ( ไม่มีขับร้อง)
โดยอาศัยเสียงฟรุ๊ตและเครื่องสายเป็นหลัก มีอิเลคโทนรองพื้น อย่างไรก็ตาม มั่นใจได้ว่า
ในท่วงทำนองทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบผู้ฟังจะได้รับความรู้สึกผ่อนคลาย เยือกเย็น
ลดความฟุ้งซ่านในจิตใจลงได้อย่างน่าประหลาดใจทีเดียว
ใครก็ตามที่รู้ตัวดีว่า เป็นคนหลงเชื่ออะไรง่ายๆ เห็นอะไรแล้วเป็นอยากได้ใคร่มีไปเสียหมด ท่านว่าควรได้ฟัง
“ บทเพลงบรรเลงสวด ” อัลบั้มนี้เป็นอาหารทางใจ มันจะเป็นอาหารเสริมอย่างดีช่วยให้จิตใจสงบ เกิดปัญญา
และมีความมั่นใจในการคิดในการกระทำสูงขึ้น มีเสียงร้องครัับ http://www.mediafire.com/?d378lq43kk517rn
บรรเลงครับ
http://www.mediafire.com/?cqd4fwhohlzsiv2