ได้อ่านกระทู้ของท่านสายสัมพันธ์๖๔๘ ที่นำเสนอเพลงนางครวญของ คุณเพ็ญศรี พุ่มชูศรี
http://saisampan.net/index.php?topic=60498.0 ทำให้นึกถึงเพลงไทยเดิมที่ไพเราะกินใจ “นางครวญ” ขึ้นมา จึงต้องเขียนบทความนี้ขึ้น
เพลงนางครวญเป็นเพลงไทยเดิมที่แปลกมากกว่าเพลงไทยเดิมอื่น เพราะดั้งเดิมเพลงนางครวญเป็นเพลงอัตราจังหวะ ๓ ชั้น (จังหวะช้า) ในขณะที่เพลงไทยเดิมทั่ว ๆ ไป มักมีอัตรา ๒ ชั้น หรือชั้นเดียวมาก่อน เพลงนางครวญมีมาแต่เดิม ไม่รู้ว่าใครแต่งเอาไว้ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ครูมนตรี ตราโมท ศิลปินแห่งชาติผู้ล่วงลับ ได้แต่งตัดเพลงนางครวญ ๓ ชั้น ลงเป็น ๒ ชั้นและชั้นเดียวจนครบเป็นเพลงเถา (เพลงเถาคือเพลงเล่นตามลำดับจากอัตราจังหวะสามชั้นไปสองชั้นและจบลงด้วยชั้นเดียวซึ่งอาจมีเพลงหางเครื่องเพลงลูกบทเล่นต่อตามความเหมาะสมอีกก็ได้) เพลงนางครวญ ๒ ชั้นของครูมนตรี ตราโมท ดังระเบิด เป็นที่รู้จักกันมาก โดยเฉพาะที่นิยมนำมาเดี่ยวขิมสาย แบบที่ยายอังศุมาลินแกเล่นให้ตาโกโบริตามมาจนพบทางเข้าบ้านนั่นแหละ
เนื้อเพลงนางครวญนำมาจากบทละครเรื่องอิเหนา พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๒ ซึ่งเป็นตอนที่อุณากรรณ (ซึ่งก็คือนางบุษบาปลอมตัว) ครวญคร่ำถึงอิเหนา นับว่าเลือกเนื้อร้องได้เหมาะสมกับแนวคิดหลัก (Theme) และอารมณ์ของเพลงดีที่สุดเพลงหนึ่งในบรรดาเพลงไทยเดิมด้วยกัน
“โอ้ว่าป่านฉะนี้พระพี่เจ้า จะโศกเศร้ารัญจวนครวญหา
ตั้งแต่พระไปแก้สงสัยมา มิได้พบขนิษฐาในถ้ำทอง
พระจะแสนเศร้าสร้อยละห้อยไห้ หฤทัยทุกข์ทนหม่นหมอง
จะดั้นด้นค้นคว้าเที่ยวหาน้อง ทุกประเทศเถื่อนท้องพนาลี”
เพลงนางครวญเป็นเพลงสำเนียงไทยแท้ (เพราะภายหลังมีผู้แต่งเพลงนางครวญทางมอญขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย) ดังนั้นที่ว่ากันว่าเพลงไทยเดิมเพราะ ๆ ฟังคุ้นหู เป็นที่รู้จัก ชื่อมักออกไปทางภาษาของชาติต่าง ๆ เช่น ลาว แขก พม่า มอญ เขมร ผมว่ามาเจอเพลงนางครวญเข้าจะต้องยอมรับว่าเพลงนี้ไพเราะจริง ๆ แบบเศร้านิด ๆ เพราะพิษแห่งความคิดถึง เหนือกว่าเพลงใด ๆ
ความไพเราะแห่งทำนองของ “นางครวญ ๒ ชั้น” จึงมีผู้ดัดแปลงเป็นทำนองเพลงไทยสากล ที่ผมพบแล้วในเวลานี้ ๔ เพลงด้วยกันครับ
หมายเหตุ ลิงค์เพลงที่เชื่อมโยงไว้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ท่านที่สนใจได้ฟังเพลงตามบันทึกเพื่อการศึกษาเรียนรู้เท่านั้น หากมีปัญหาเกี่ยวกับลิขสิทธิ์โปรดแจ้งเว็บมาสเตอร์ของเว็บที่ลิงค์