tanay2507
ปลดออกจากสมาชิก
คำขอบคุณ: 5543
ออฟไลน์
เพศ:
กระทู้: 1931
สมาชิก ID: 27
Level and Hp mod by the DtTvB :: version 1.02 :: Made for Zone-IT.com
Level 35 : Exp 73%
HP: 0%
|
|
« เมื่อ: มกราคม 22, 2012, 04:41:40 pm » |
|
ในขณะที่แนวเพลงของบ้านเรา ทั้งในส่วนที่เป็นลูกทุ่ง เพื่อชีวิต หรือแม้กระทั่งไทยเดิมต่างก็มีการปรับ เปลี่ยน กระทั่งมี “ที่ยืน” ที่ค่อนข้างจะแข็งแรง และมองเห็นว่ายังมีอนาคต ทว่ากับบทเพลง “ลูกกรุง” ล่ะ? มีใครเคยตั้งคำถามบ้างมั้ยว่า อนาคตของมันจะเป็นเช่นไร? หากในเมื่อ ณ ปัจจุบันเราแทบจะไม่เคยมีนักร้องหน้าใหม่ที่อยู่ในแขนงเพลงสายนี้ออกมาเลย เช่นเดียวกับครูเพลงเองก็ดูเหมือนว่าจะหยุดการทำงานของตนเองไว้เมื่อ 2 ทศวรรษที่แล้ว … ในฐานะที่ผมเป็นนักร้อง ผมคิดว่าสถานะของเพลงลูกกรุงไม่ค่อยดีนัก เพราะขาดสื่อที่จะต่อยอดให้กับเพลงเหล่านี้ เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ครูเพลงรู้สึกท้อถอย ไม่กระตือรือร้นที่จะแต่งเพลงไว้ขายนายทุน ถึงแต่งไว้แล้ว ก็ไม่รู้ว่าใครจะมาซื้อเพลงเหล่านี้ไปผลิตขาย
คำบอกเล่าจาก “สุเทพ วงศ์กำแหง” หนึ่งในนักร้องเพลงลูกกรุงชื่อดังกล่าวกับ ASTV ผู้จัดการปริทรรศน์ อันแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงภาวะลมหายใจของเพลงลูกกรุงที่วันนี้ต้องบอกว่ารวยรินร่อแร่เต็มที ด้วยความแน่นิ่ง ซบเซา มีคนร้อง-คนฟังอยู่ในวงแคบๆ และจำกัดในเรื่องของพื้นที่การแสดง-ขาย
ในยุคที่ตลาดเพลงลูกกรุงขาดพื้นที่หายใจครูเพลงหลายคนหยุดประพันธ์เพลงไปแล้ว ครูเพลงบางคนยังเขียนเพลงอยู่บ้างแต่โอกาสที่เพลงเหล่านี้จะผ่านแทรกไปถึงหูคนฟัง ยากเย็นแสนเข็ญเต็มที
น้ำหยดลงหิน ทุกวันหินมันยังกร่อน แต่หัวใจอ่อนๆ ของเธอทำด้วยอะไร ช่างไม่สะทกสะท้านเหมือนนหัวใจช่างไม่หวั่นไหว ว่าใครเขารัก เขารอ - คำคมเหล่านี้มันฝังลึกลงไปในหัวใจของผู้ฟังเพลงจนจดจำคำเหล่านี้ได้ตลอดกาล”
“อย่าเยาะเย้ยฉันแล้วคงสักวันเธอจะร้องไห้ วันนี้ปรีดา พรุ่งนี้ปราชัย แล้วจะเจ็บใจโทษใครเล่าเธอ ถ้อยคำถูกกลั่นกรองออกมาอย่างไพเราะ สัมผัสได้อย่างงดงามบ่งบอกถึงความสามารถพิเศษของผู้ประพันธ์ที่มีความรอบรู้ และชัดเจนในภาษาไทย สามารถหยิบเอามาใช้ได้อย่างมหัศจรรย์ สุเทพ กล่าวยกตัวอย่างเนื้อหาของบทเพลง รอ (คำร้อง ทำนอง สุรพล โทณะวณิก) และเพลง เท่านี้ก็ตรม (คำร้อง - ชาลี อินทรวิจิตร/ทำนอง - สมาน กาญจนะผลิน) ที่แสดงให้เห็นถึงความสวยงามของบทเพลงลูกกรุง
ขณะที่ครูเพลงชื่อดัง “ชาลี อินทรวิจิตร” อธิบายเพิ่มเติมในคุณค่าของเพลงลูกกรุงว่า…
เรื่องสถานภาพของเพลงลูกกรุงในทุกวันนี้ผมถือว่ามันเป็นตามกาล การที่เพลงไทยลูกกรุงผ่านกาลเวลามาถึง 50 ปียังไม่ลบเลือน มีการถ่ายทอดสืบสานกันมาเรื่อย ก็แสดงให้เห็นถึงว่าเพลงลูกกรุงมีคุณค่ามาก ในทางกลับกัน เพลงรุ่นใหม่ๆ อัดโฆษณาอยู่ตลอดเวลา อายุเพลงอยู่ได้ปีเดียวก็หายไปแล้ว”
“ที่เป็นอย่างนี้ ผมอยากจะยกคำกลอนของศาสตราจารย์ท่านหนึ่งที่ท่านนำมาจากเพลงฝรั่ง…ลูกปั้นที่ขาดแสง ภาพวาดที่ขาดสี บทกวีที่ไร้ตัวอักษร…เพลงคือกวีทางเสียง ดนตรีคือกวีทางเสียง แสงท่อลม เสียงประสานของความเงียบงันคือ กวีอักษร เมื่อกวีทางอักษรมาผสมกับเสียง มันจะเป็นบทเพลงที่สุดยอด ได้ยินทางหู เห็นทางตา
เพลงของครูชาลี อินทรวิจิตรมีเยื่อใยของศิลปะ และเป็นเพลงที่นักฟังเพลงหลายหลากรุ่นคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เพลงคุ้นหูและคนไทยทุกคนรู้จักกันดีคือ สดุดีมหาราชา ซึ่งครูใช้เวลาเพียง 5 ชั่วโมง เพลงนี้ก็สมบูรณ์และงดงามอย่างไม่มีที่ติ
ผมสามารถแต่งเพลงได้ทุกเวลาและทุกสถานที่ นี่คือคำยืนยันจากปากของครูชาลี
ณ วันนี้ครูชาลี อินทรวิจิตร ยังแต่งเพลงอยู่เป็นประจำ เพียงแต่ไม่ได้มากเท่ากับสมัยก่อนเท่านั้นเอง และหากค่ายใดที่จะนำเพลงของครูชาลีไปขับร้อง ไม่ว่าจะเป็นในเชิงอนุรักษ์หรือเชิงใดก็แล้วแต่ ครูจะถามว่า…นักร้องเป็นใคร?
และเหตุที่ต้องถามเช่นนั้นก็เพราะว่า?
“คือ นักร้องรุ่นใหม่ที่ร้องเพลงในแนวนิยม ผมไม่เชื่อว่าเขาจะเอาเพลงของผมไปร้องได้ดี จึงต้องคุยและพิจารณาในเรื่องนักร้องก่อน แต่สมัยก่อนมันไม่มีปัญหา เพราะนักร้องเข้าใจในตัวเพลงที่จะถ่ายทอดอยู่แล้ว เช่น สุเทพ วงศ์กำแหง, ชรินทร์ นันทนาคร, เพ็ญศรี พุ่มชูศรี, สวลี ผกาพันธุ์ เหล่านี้เป็นต้น” … นักร้องแบ่งประเภทเพลง!! ผมยืนยันได้ว่าเพลงลูกกรุงไม่ได้หายไปไหน ยังมีอยู่ เพียงแต่ว่าเมื่อมันออกมาแล้ว เขาไม่ได้เรียกมันว่า ลูกกรุง เท่านั้นเอง!? นคร ถนอมทรัพย์ ครูเพลงชื่อดังอีกท่านกล่าวกับ ASTV ผู้จัดการปริทรรศน์
ในทัศนะของนคร ถนอมทรัพย์ เห็นว่า สังคมไทยใช้ นักร้อง เป็นตัวแบ่งประเภทของเพลงลูกกรุง และลูกทุ่ง ไม่ได้แบ่งโดยเนื้อหาของเพลงตามที่ควรจะเป็น และนั่นเองที่ทำให้เพลงลูกกรุงดูจะไม่มีกระแสเปรี้ยงปร้างเหมือนกับเพลงลูกทุ่ง
ต้องดูที่สำนวน ฟังที่สำเนียง ดูโครงสร้างของเพลง เสียงและสไตล์การร้อง ถึงพิจารณาว่าเพลงนั้นอยู่ในบรรยากาศใด กรุงเทพฯ หรือชนบท ถึงจะบอกได้ว่าเพลงนั้นคือเพลงลูกทุ่งหรือลูกกรุง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเลย เพลง ขวัญใจเจ้าทุย (คำร้อง สมศักดิ์ เทพานนท์/ ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน)
เพลงนี้คือเพลงลูกทุ่งที่วงสุนทราภรณ์แต่งขึ้นมาเพื่อประกอบละครเพลงสมัยช่อง 4 บางขุนพรหม เมื่อปี 2501 เนื้อเพลงเป็นเรื่องชนบทล้วนๆ แต่บังเอิญรวงทอง ทองลั่นธมร้องคนแรก จึงไม่ใช่เพลงลูกทุ่งในทัศนะของผู้ฟัง หรืออย่างเพลงแสนแสบ, ท่าฉลอม (คำร้อง ชาลี อินทรวิจิตร ; ทำนอง สมาน กาญจนะผลิน) นี่คือเพลงลูกทุ่งตามโครงสร้างของเพลง”
“แต่เนื่องจากเพลงนี้ชรินทร์ นันทนาครร้องเป็นคนแรก จึงไม่มีใครพูดว่านี่คือเพลงลูกทุ่ง ซึ่งตามโครงสร้างของเพลงประเภทนี้ อย่างเพลงแสนแสบ ไพรวัลย์ ลูกเพชรมาร้องประกอบหนังเรื่องแผลเก่า ฟังแล้วได้บรรยากาศกว่าชรินทร์ เพราะบรรยากาศเพลงเป็นลูกทุ่ง คนไทยใช้นักร้องเป็นตัวกำหนดประเภทของเพลง
สุนารี ราชสีมา นักร้องในสายลูกทุ่ง ทั้งๆ ที่เธอร้องเพลงลูกกรุงไพเราะมาก สมบูรณ์แบบ ฝน ธนสุนทร เคยร้องเพลงลูกกรุงมาแล้ว แต่ขายไม่ได้ ค่ายเพลงจึงต้องปรับเปลี่ยนสไตล์ให้ฝนมาร้องเพลงลูกทุ่ง ทั้งๆ ที่สำเนียงของฝนจะไม่ใช่ลูกทุ่งจ๋า”
“หรืออย่างเพลงที่อาร์เอสฯ แต่งให้หญิง ฐิติกานต์ร้อง นั่นคือเพลงไทยสากลที่เรียกกันว่า เพลงลูกกรุง แต่เขาไม่ยอมรับคำนี้ ทั้งๆ ที่ชนิดของเพลงคือ ลูกกรุงในอดีต แต่เลี่ยงไปใช้คำว่า ลูกทุ่งไฮเทค ยังไงก็ขอหิ้วคำว่า ลูกทุ่ง เอาไว้หน่อย ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น
ครูนคร ถนอมทรัพย์ สรุปกับ ASTV ผู้จัดการปริทรรศน์ว่า…
เพลงเก่าที่นำมาขับร้องใหม่คือ การอนุรักษ์ แต่เพลงไทยสากลใหม่ๆเ กิดขึ้นตลอดเวลา แต่คนรุ่นใหม่ร้องและถูกกำหนดจากค่ายเพลงให้เป็นเพลงลูกทุ่ง เพื่อเหตุผลทางการตลาด ที่จริงถ้าฟังกันจริงๆ จังๆ จะรู้ว่า ตัวเพลงและสำเนียงการร้องมันไม่ใช่เพลงลูกทุ่ง ขณะเดียวกันครูเพลงเก่าก็ยังประพันธ์เพลงอยู่บ้าง แต่นักร้องในแนวลูกกรุงรุ่นใหม่ มันมีแต่ลูกทุ่ง … เพลงใหม่มี แต่น้อย(มาก) อย่างไรก็ตาม แม้จะน้อยมากในเรื่องของงานเพลงใหม่ๆ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีบทเพลงลูกกรุงออกมาเสียเลยโดย หนึ่งในนั้นก็คือผลงานอัลบั้มชุด ทะเลจันทร์ ของทิพย์วัลย์ ปิ่นภิบาล ที่มีเพลงใหม่ทั้งหมด 3 เพลง ปุ้ม พงษ์พรหม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา แต่งให้ 2 เพลง คือ เสียงเพลงสายลม และอัสดง อีกเพลงหนึ่งคือ ทะเลจันทร์ (คำร้อง นิมิต พิพิธกุล / ทำนอง ชัยภัค ภัครจินดา)
ส่วนเพลงอื่นๆ เป็นเพลงไทยสากลอมตะ ชุดนี้ทำดนตรีในแนวอะคูสติก เหมือนดนตรีบำบัดกลายๆ อาทิ หวัง (คำร้อง ทำนอง สง่า อารัมภีร), ความรัก (คำร้อง ทำนอง จิรพรรณ อังศวานนท์), คะนึง (พลเรือตรี ปรีชา ดิษยนันท์), พรานเบ็ด (คำร้อง ทำนอง ล้วน ควันะรรม), สุดเหงา (คำร้อง ทำนอง วราห์วรเวช), ทานตะวัน (คำร้อง เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ / ทำนอง ธนิต ศรีกลิ่นดี), ไฟ (คำร้อง ทำนอง ชัยรัตน์ วงศ์เกียรติขจร), น้ำเซาะทราย (คำร้อง ชาลี อินทรวิจิตร / ทำนอง จำรัส เศวตาภรณ์), จงรัก (คำร้อง ทำนอง จงรัก จันทน์คณา) เป็นต้น
เพลงชุดนี้ทิพวัลย์ ทำเอง ขายเอง ด้วยเหตุผลที่เธอบอกว่า…อยู่กับค่ายเพลง เขาก็ทำตามใจเขา ไม่ได้ตามใจเรา เมื่อพี่มาทำขายแบบนี้ ได้ทุกอย่างอย่างที่ใจเราต้องการ ดนตรีงดงามและมีชีวิตมาก เพลงพวกนี้อาจจะมีการโปรโมตในระยะแรก ช่วงสั้นๆ อาศัยฝากเพื่อนฝูงในวงการ แล้วคนก็จะเริ่มถามหากันเอง
ทิพย์วัลย์ ปิ่นภิบาล จัดเป็นนักร้องในช่วงรอยต่อที่เพลงในแนวสตริงคอมโบเริ่มเข้ามามีบทบาทในวงการเพลงบ้านเรา หลังจากที่เธอได้ตำแหน่ง รองชนะเลิศการประกวดนักร้องสมัครเล่นชิงแชมป์ประเทศไทย ซึ่งช่อง 3 จัดขึ้น (ปีนั้น เกวลิน บุญศิริธรรม ครองตำแหน่งชนะเลิศ เวทีเดียวกันนี้ นันทิดา แก้วบัวสาย, มณีนุช เสมรสุต คือนักร้องประกวดในรุ่นถัดไป)
เพลงใหม่ๆ ของทิพย์วรรณสมัยนั้น แต่งโดย นรินทร์ อินทรวัตร ครูเพลงท่านนี้คือ พ่อของต้อล AF (วันธงชัย อินทรวัตร) ครูนรินทร์สร้างเพลง สุดเหงา และอยู่คนเดียวทุกที จนทิพย์วรรณโด่งดังเป็นพลุแตก ส่วนครูเพลงอีกท่านหนึ่งที่มีส่วนประพันธ์เพลงให้กับเธอคือ พรพจน์ อันทนัย (ผู้แต่งเพลง กุหลาบแดง 9,999 ดอก)
กลุ่มเพลงใหม่ของนักแต่งเพลงท่านอื่นในยุคนั้น เช่น ฉันรู้แต่ฉันรัก, เขียนโลกด้วยดินสอ, ริมฝั่งยม, รักไม่กลัว, ดับไฟนอน, อย่าเลือดเย็น, กระซิบรัก, เจ้าพระยา ฯลฯ เป็นต้น ถัดจากนั้นวงการเพลงข้าสู่ยุคสตริง และเพลงในกระแสแนวนิยมตามลำดับ เพลงลูกกรุงใหม่ๆ แทบจะหมดบทบาทในวงการเพลงไทยสากล
ความโดดเด่นของทิพย์วัลย์อีกอย่างหนึ่งคือ เธอเป็นนักร้องคนแรกที่นำเอาเพลงของ นักร้องชาย หรือเพลงที่ไม่ชัดเจนว่า ชาย หญิง มาร้องจนได้รับความนิยม เช่น รักคุณเข้าแล้ว (คำร้อง - สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ / ทำนอง - สมาน กาญจนะผลิน), คนเดียวในดวงใจ (คำร้อง - ทิพย์ประภา ทำนอง - ประสิทธิ์ พยอมยงค์), จงรัก (คำร้อง/ทำนอง จงรัก จันทร์คณา) ฯลฯ
ทุกวันนี้ นอกจากจะเป็นครูสอนร้องเพลงแล้ว ยังจัดรายการทางสถานีวิทยุ ทุกวันเสาร์ เวลา 16.00 18.00 น. ที่สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ FM 92.5 MHz และเวลา 23.00 24.00 น. ที่สถานีวิทยุกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ 98 MHz
ลูกกรุงของพี่จะไม่ใช่ลูกกรุงในรุ่นนั้นๆ เนื้อหาของดนตรีจะถูกปรับให้มีความร่วมสมัยมากขึ้น อาจจะเป็นดนตรีในแนวร่วมสมัยขึ้นมานิดหนึ่ง หรืออย่างเดี๋ยวนี้เขาก็เอาดนตรีคลาสสิกประเภทเครื่องสายเข้ามา งานของพี่ชุดหนึ่งก็ทำกับบางกอกซิมโฟนี ดนตรีไพเราะมากเลย แล้วเวลาที่เราไปร้องเพลงในคอนเสิร์ตไหน เราก็เอาเพลงพวกนี้ไปขายด้วย มีคนมาถามหาซื้ออยู่เรื่อยๆ อย่างทะเลจันทร์ เราทำแค่ 15,000 แผ่นเท่านั้น เอาไว้ขายให้กับคนคอเดียวกัน ทิพย์วัลย์บอก พร้อมแสดงความมั่นใจว่า เพลงลูกกรุงจะไม่มีวันตาย!
คนอายุ 40 50 อัป รักเพลงลูกกรุงทุกคน เพลงลูกกรุงไม่ตายหรอกค่ะ เวทีประกวด เด็กๆ รุ่นใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นรุ่นเด็ก หรือรุ่นผู้ใหญ่ก็พยายามที่จะเอาเพลงลูกกรุงเข้ามาประกวด เพราะเพลงพวกนี้ฟังง่าย จำง่าย มันมีคำที่สัมผัสนอก สัมผัสใน สัมผัสอักษร สัมผัสสระ ลูกเล่นตรงนี้แหละที่เป็นเสน่ห์ของเพลงลูกกรุง ซึ่งเพลงรุ่นใหม่ไม่มี เนื่องจาก ณ ปัจจุบันนี้ผู้เชี่ยวชาญทางภาษาน้อยลง ไม่เหมือนครูเพลงรุ่นเก่า … ค่ายเพลงต้องเลิกครอบงำสื่อ สุเทพ วงศ์กำแหง เห็นว่าค่ายเพลงควรให้สื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวิทยุ , ทีวี, หนังสือพิมพ์ ทำงานอย่างเป็นอิสระ บริษัททำซีดีที่มีเงินมากจะซื้อสื่อไว้ในมือ แล้วส่งคนไปทำรายการ และเอาเพลงที่ตัวเองผลิตไปเปิดในรายการ สื่อวิทยุซึ่งบางสถานีเป็นกระบอกเสียงของรัฐก็มิได้ทำหน้าที่รับใช้ประชาชน กลับไปรับใช้บริษัทเหล่านี้ด้วยเห็นแก่อามิสสินจ้าง ยัดเยียดเพลงให้กับเด็กรุ่นใหม่ทุกวัน
หนทางในการเยียวยาเพลงลูกกรุง ในทัศนะของสุเทพ วงศ์กำแหง เห็นว่า… หนึ่ง รัฐบาลต้องหันมาดูแลในเรื่องการเรียน การสอน การใช้ภาษาไทยของนักเรียน ตั้งแต่รุ่นเด็กเล็กไปจนถึงรุ่นอุดมศึกษา ต้องให้เด็กรุ่นใหม่ศึกษาภาษาไทยให้ดี รู้จักศัพท์ในหลายระดับ ตั้งแต่ศัพท์พื้นฐาน ต่อยอดไปถึงการทำความรู้จักกับศัพท์ชั้นสูง เพื่อให้ภาษาไทยแตกฉาน”
“สอง หาผู้ร้องเพลงที่ใช้ถ้อยคำได้อย่างถูกต้อง มีการให้รางวัลกับการขับร้องได้ดีและถูกต้อง เพื่อให้บรรยากาศที่อึมครึมได้สว่างไสวอีกครั้ง และสามสนับสนุนให้ครูเพลงได้ประพันธ์เพลงใหม่ๆ อย่าเพิกเฉยหรือท้อแท้ต่อสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ให้ทั้ง 3 ส่วนนี้กุมมือกันฝ่าวิกฤตของเพลงลูกกรุงในวันนี้ไปให้ได้ พี่ใหญ่ของวงการกล่าวสรุป
ด้าน ทิพย์วัลย์ มองว่า…ถ้าไม่มีค่ายเพลงที่พยายามยัดเยียดเพลงแนวนิยมอย่างเดียว ตลาดก็จะมีความหลากหลายที่จะเดินไปได้ด้วยตัวของมันเอง โดยมีศิลปะและความสามารถเป็นตัวกำกับ เด็กสมัยนี้ร้องเพลงไทยไม่ชัดเพราะมาจากนักร้องต้นแบบ ไม่ตามกันจะไม่เดิร์น ทำทั้งๆ ที่เรารู้ว่ามันไม่ถูกต้อง…ทุกวันนี้การดีไซน์ดนตรีมันโมเดิร์นอยู่แล้ว ดังนั้นการร้องก็ควรจะชัดถ้อยชัดคำ
ลูกกรุง ณ วันนี้ เสมือนว่าถูกไล่ต้อนให้มารวมกันในห้องดนตรีสี่เหลี่ยมที่แสนจะอึมครึม และห้องนั้นถูกปิดตายไร้ทางออก ในขณะที่นอกห้องนี้มีตัวโน้ตอีกมากมายที่กระโดดโลดเต้นอย่างสนุกสนาน คนลูกกรุงไม่ขออะไรมาก นอกจากพื้นที่ไม่ต้องมากที่จะได้ปลดปล่อยให้ทำงานที่ใจรักเท่านั้น
vaiyawut_wut, แวนด้า, แดน ดงตาล, mchai01, , nipon, สะบันงา, woraphon, pinky, Deja, ภาวัช, คนรักดี2012, , lakkana, หมื่นกระบี่ไร้พ่าย, krabiman, agoa, kallayanaree, กระต่าย
|