ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?


เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ธันวาคม 22, 2024, 09:34:20 pm

 


  หน้าแรก  • ช่วยเหลือ  • ค้นหา  • เข้าสู่ระบบ  • สมัครสมาชิก



สถานีวิทยุออนไลน์
สายสัมพันธ์





ท่านสามารถขอเพลงฟังได้
ที่กล่องขอเพลงด้านซ้ายมือ
แต่อาจไม่ได้รับฟังทุกเพลง
เนื่องจากจะรองรับเพลงตามขอ
ของสมาชิกภายในก่อน
หน้า: [1]
 
ผู้เขียน หัวข้อ: บทความของ ว.วินิจฉัยกุล : เพชรพระอุมา ภาค 1 ประติมากรรมระดับยักษ์ของ "พนมเทียน"‏  (อ่าน 4154 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
เจ เหน่งบา
สายสัมพันธ์
*

คำขอบคุณ: 2452
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 520
สมาชิก ID: 1250


Level and Hp mod by the DtTvB :: version 1.02 :: Made for Zone-IT.com Level 18 : Exp 48%
HP: 0%

รักหญิงหนึ่ง ตรึงใจ ไม่ประมาณ


« เมื่อ: ตุลาคม 19, 2012, 06:57:38 am »


เป็นบทความของ ด็อกเตอร์ วินิตา ดีถึยนต์(วินิจฉัยกุล) เจ้าของนามปากกา ว.วินิจฉัยกุล และ แก้วเก้า
ซึ่งมีผลงานเป็นนวนิยาย ซึ่งถูกสร้างเป็นละครทีวี และภาพยนต์หลายสิบเรื่องครับ


 
ที่มาของเรื่อง
ทวีปแอฟริกาในปลายคริสต์ศตวรรธที่ 19 หรือเมื่อประมาณหนึ่งร้อยปีก่อน ได้ชื่อว่า "กาฬทวีป" หรือทวีปดำ เพราะความมืดมนเร้นลับ ทุรกันดาร น่าสะพรึงกลัวสำหรับคนต่างชาติผู้เหยียบย่างเข้าไปเป็นครั้งแรก แต่แอฟริกาก็เป็นแหล่งทรัพยากรอันมีค่าที่สุดในโลก คือเหมืองเพชรที่ยังคงมีสืบต่อมาจนปัจจุบัน มหามงกุฏและเครื่องประดับพระอิสริยยศของกษัตริย์อังกฤษเป็นจำนวนมาก มีที่มาจากเหมืองเพชรแอฟริกานี้เอง โดยเฉพาะในยุคที่มหาอำนาจในยุโรป คืออังกฤษ ฝรั่งเศส ฮอลันดา เริ่มแผ่ขยายอำนาจครอบครองทวีปเอเซีย แอฟริกา และออสเตรเลีย ในยุคการล่าอาณานิคมที่ว่ามา ราชอาณาจักรสยามรอดพ้นจากมหาอำนาจในยุโรปมาได้อย่างหวุดหวิด ด้วยพระบารมีและพระราโชบายอันชาญฉลาดมองการณ์ไกลในพระมหากษัตริย์แห่งบรมราชจักรีวงศ์ ตั้งแต่รัชกาลที่ 3 จนถึงรัชการที่ 5

ทวีปแอฟริกาเคราะห์ร้ายกว่า จักรวรรดิอังกฤษในยุค "พระอาทิตย์ไม่เคยตกดินในราชอาณาจักร" แผ่อำนาจเข้าไปครอบงำหลายส่วนของทวีปดำร่วมกับฝรั่งเศสและฮอลันดา ทำให้คนผิวขาวพากันเข้าไปบริหารงานอยู่ในทวีปดำนี้เป็นจำนวนมาก ในฐานะ "นาย" ของคนพื้นเมือง

หนึ่งในจำนวนคนผิวขาวเหล่านี้เป็นชายหนุ่มชื่อ เฮนรี่ ไรเดอร์ แฮกการ์ด มีฐานะเป็นเลขานุการของผู้ว่าราชการแคว้นทรานสวาล ซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษ เข้าได้ท่องเที่ยวไปหลายแห่งในทวีปตั้งแต่ใต้สุดจนเหนือสุด อย่างที่คนร่วมชาติน้อยคนนักจะมีโอกาสเช่นเขา เขาพบทั้งทะเลทรายสุดสายตาในตอนเหนือ ตลอด จนเทือกเขาสูงใหญ่ยาวเหยียดเป็นกำแพงเสียดฟ้า และป่าดงดิบเต็มไปด้วยสิงสาราสัตว์แปลกประหลาดในตอนกลางและตอนใต้ของทวีป อีกทั้งชนพื้นเมืองหลายเผ่าพันธุ์หลายลัทธิศาสนา ทั้งเป็นมิตรและเป็นศตรู

เมื่อแฮกการ์ดกลับไปตั้งถิ่นฐานครอบครัวอยู่ในอังกฤษ ในอีกหลายปีต่อมา เขาพอมีเวลาว่างจากอาชีพทนายความ ก็ได้ลองแต่งนวนิยายขึ้น โดยใช้นามปากกาว่า เอช. ไรเดอร์ แฮกการ์ด อาศัยประสบการณ์จากแอฟริกาบวกกับจินตนาการอันโลดโผนตื่นเต้นสนุกสนาน สร้างนิยายใช้ฉากต่างประเทศอย่างที่คนอังกฤษสมัยนั้นนิยมกันมากขึ้นมาหลายเรื่อง ผลสำเร็จอย่างงดงามทำให้แฮกการ์ดตัดสินใจทิ้งอาชีพนักกฎหมายมาเป็นนักประพันธ์อาชีพเต็มตัว แล้วเขาก็ไม่ผิดหวัง นอกจากจะกลายเป็นเศรษฐีประจำท้องถิ่นที่เขาพำนักอยู่แล้ว ยังมีชื่อเสียงลือเลื่องไปทั่วประเทศ ปั้นปลายชีวิตก็ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "ท่านเซอร์" ไรเดอร์ แฮกการ์ด และเมื่อถึงแก่กรรมไปแล้ว รัฐบาลประเทศแคนาดายังตั้งชื่อภูเขาและธารน้ำแข็งแห่งหนึ่งในประเทศนั้นตามชื่อของเขาไว้เป็นเกียรติอีกด้วย

นับว่ามีวาสนาดีกว่านักประพันธ์ไทยอย่างเทียบกันไม่ได้

ตัวละครมีชื่อเสียงที่สุดที่ เฮนรี่ ไรเดอร์ แฮกการ์ด สร้างขึ้นในจำนวนนิยายมากกว่า 50 เรื่องของเขานั้น มีอยู่ 2 คน คนหนึ่งเป็นสาวงามผู้มีอายุยืนนานกว่าหนึ่งพันปีชื่อ "อาเยชา" เป็นนางพญาครองเผ่าลึกลับแห่งหนึ่งในแอฟริกา เธออาบไฟวิเศษทำให้เป็นสาวไม่รู้จักแก่ รอคอยคนรักที่ตายจากไปนับพันปีแล้วให้มาเกิดใหม่อีกครั้ง นิยายที่เธอปรากฏตัวขึ้นเป็นครั้งแรกมีชื่อสั้นๆว่า She แต่ต่อมาก็กกลับมาปรากฏอยู่ในนิยายอีกหลายเรื่องด้วยกัน คนไทยเมื่อ 60 ปีก่อนรู้จักอาเยชาในนามว่า "สาวสองพันปี" เพราะแปลเป็นนิยายไทยในชื่อนั้น

ส่วนตัวละครโด่งดังตัวที่สอง เป็นชายหนุ่มชาวอังกฤษชื่อ อัลลัน ควอเตอร์เมน เป็นพรานผิวขาวผู้ไป ผจญภัยอยู่ในแอฟริกา รู้ลู่ทาง ชำนิชำนาญในการล่าสัตว์ แกะรอย รู้จักป่าดงพงไพรเร้นลับนั้นทะลุปรุโปร่งราวกับมองฝ่ามือตัวเอง ดังนั้นจึงมีหน้าที่นำทางให้คณะสำรวจ หรือคณะนักเดินทางผิวขาวผู้มีความจำเป็นจะต้องฝ่าฟันความทุรกันดารเหล่านี้ไปจนถึงจุดหมาย ด้วยความที่เขาเป็นที่นิยมของคนอ่านอย่างไม่เบื่อหน่ายเช่นนี้ อัลลัน ควอเตอร์เมนก็เลยถูกผู้เขียนดึงออกมาผจญภัยในนิยายเรื่องแล้วเรื่องเล่า ไม่เป็นอันได้หยุดพักผ่อนกับเขาสักที

ในตอนหนึ่งของการผจญภัย กล่าวถึงชายชาวอังกฤษผู้หนึ่งเดินทางสาบสูญไปในดินแดนแอฟริกา ทำให้เพื่อนฝูงและภรรยาสาวของเขาเกิดความวิตกกังวลมาก จึงรวบรวมกันเป็นกลุ่ม ออกเดินทางติดตามค้นหา โดยจ้างอัลลัน ควอเตอร์เมนเป็นผู้นำทาง

จุดหมายปลายทางคือไปสู่เทือกเขาลึกลับที่ไม่มีใครไปถึงมาก่อน เรียกกันว่า "ถันพระนางชีบา" อันเป็นแหล่งซ่อนขุมเพชรมูลค่ามหาศาล เป็นสมบัติตกทอดมาหลายพันปี ของมหาราชผู้มีชื่อเสียงอยู่ในพระคัมภีร์ไบเบิลยุคโบราณ ทรงพระนามว่า พระเจ้าโซโลมอน กษัตริย์องค์นี้ได้ชื่อว่ามีสมบัติในท้องพระคลังอย่างมหาศาล (จนกลายเป็นคำเปรียบในภาษาอังกฤษว่า as rish as King Solomon หรือร่ำรวยราวกับพระเจ้าโซโลมอน ) พระองค์ทรงเป็นพระสวามีของพระราชินีผิวดำแห่งแอฟริกาคือ พระนางชีบาองค์นี้เอง และที่เล่าลือกันมาก็คือมีชนเผ่าพื้นเมืองเผ่าหนึ่งเป็นผู้รักษาปากทางเข้าเทือกเขาและขุมเพชรแห่งนี้ จะทำหน้าที่เข่นฆ่าคนทุกคนที่ล่วงล้ำเข้าไป

เมื่อจะออกเดินทาง คณะนักผจญภัยได้รับลูกหาบเป็นชายหนุ่มชาวแอฟริกันผิวดำร่างใหญ่ผู้หนึ่ง เดินทางไปรับใช้ด้วยตามทาง หลังจากผจญภัยพบสิงสาราสัตว์และภัยธรรมชาติต่างๆก็มาถึงจุดหมายได้ในที่สุด จึงพบว่าคนใช้หนุ่มของคณะนี้แท้จริงคือลูกชายของหัวหน้าเผ่าคนก่อน ที่ถูกหมอผีประจำเผ่าทรยศฆ่าตายแล้วขึ้นครองอำนาจแทน ตัวลูกชายหนีรอดไปได้ ในที่สุดก็เดินทางกลับมาแก้แค้นแทนพ่อ ชิงตำแหน่งหัวหน้าเผ่าคืนมา แล้วอนุญาตให้กลุ่มนักเดินทางเดินกลับไปได้ ขุมเพชรนั้นก็ยังคงอยู่เป็นตำนานเช่นเดิมไม่มีใครไปแตะต้อง

การผจญภัยตอนนี้ อยู่ในนิยายชื่อ King Solomon's Mines

พระนามของพระเจ้าโซโลมอนเป็นการออกเสียงแบบฝรั่ง ถ้าออกเสียงแบบตะวันออก คนไทยเมื่อหลายสิบปีก่อน ออกเสียงเรียกว่า "สุไลมาน" หรือ "สุลีมาน" ดังนั้นเมื่อภาพยนต์เรื่อง King Solomon's Mines มาฉาย ผู้แปลชื่อหนังเป็นพากย์ไทยจึงตั้งชื่อว่า "สมบัติพระสุลี" ก็เลยไปพ้องกับชื่อ พระศุลี หรือ พระอิศวร เทพเจ้าของฮินดู กลายเป็นสมบัติเทพเจ้าแห่งชมพูทวีปไป

เมื่อกล่าวมาอย่างยาวเหยียดจนถึงตอนนี้แล้ว ท่านผู้อ่านที่ทนอ่านมาจนจบก็คงจะถึงบางอ้อ เสียทีว่า มันเกี่ยวกับหัวข้อเรื่องที่ตรงไหน

ทั้งนี้ต้องขอบอกจุดประสงค์เสียเลยว่า การเท้าความถึง King Solomon's Mines นี้ไม่ได้ต้องการแสดงว่า เพชรพระอุมา ภาค 1 เป็นงานของฝรั่ง ตรงกันข้าม ข้าพเจ้าต้องการแสดงให้เห็นว่า เรื่องนี้เป็นงานประพันธ์ของคนไทย แม้มีที่มาจากวรรณกรรมอังกฤษ แต่ก็เป็นงานที่ยิ่งใหญ่ ที่มีฝีมือ มีความจัดเจนทางภาษาและจินตนาการมากที่สุดงานหนึ่งของนวนิยายยอดนิยมของไทย

ในความเห็นของข้าพเจ้าแล้ว เห็นว่า เพชรพระอุมา ภาค 1 เป็นงานที่สร้างยากกว่า King Solomon's Mines และมีลักษณะเฉพาะของตัวเองชัดมาก ถ้าจะเปรียบก็เหมือนกับว่า การที่สถาปนิกไทยใช้กระเบื้องมุงหลังคาและเสาปูนของฝรั่ง ตลอดจนหน้าต่างกระจกติดเครื่องปรับอากาศ มาสร้างบ้านไทย ก็หาได้ทำให้บ้านไทยนั้นกลายเป็นบ้านฝรั่งไปไม่ และยิ่งเมื่อใช้พื้นไม้สัก ฝาปะกน ฝาเฟี้ยมแบบไทย มีประตูที่มีธรณีประตูสูง มีหย่อง หรือแผ่นไม้สลักใต้หน้าต่าง มีคันทวยสลักค้ำชายคา นอกชานตั้งเขามอ และไม้ดัดตลอดจนอ่างปลาเงินปลาทอง มันก็กลายเป็นบ้านไทยประยุกต์ที่คนไทยคุ้นตากันนั่นเอง

เมื่อได้อ่าน เพชรพระอุมา ภาค 1 ครั้งแรก ในบทแรกๆ ข้าพเจ้าไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นอยากจะเดาตอนต่อไปว่าเป็นอย่างไร เพราะพอจะเดาตอนจบได้ แต่ที่กลับตาลปัตรก็คือ เมื่อได้อ่านตอนต่อๆไปก็กลับตื่นเต้นขึ้นทุกขณะ และก็หมดความสนใจว่าตอนจบของเรื่องจะจบลงแบบไหนอย่างไร เพราะความสนใจไปอยู่ที่แต่ละขั้นแต่ละตอนเสียแล้ว ข้อนี้จะต้องยกให้เป็นฝีมือของพนมเทียน ในการบรรจงสลักรายละเอียด ประดับประดาทุกขั้นตอนของเนื้อเรื่องอย่างมีชีวิตชีวา

การเดินทางของคณะม.ร.ว. เชษฐา จากหุบเขาและดงอีกแห่งหนึ่ง จากสัตว์ร้ายชนิดหนึ่งไปสู่สัตว์ร้ายอีกชนิดหนึ่ง จากความเร้นลับประเภทหนึ่งไปสู่อีกประเภทหนึ่ง ล้วนมีสีสันและเสน่ห์จับใจอยู่ในตัวของมัน โดยไม่ต้องพะวงว่าเมื่อไหร่จะถึงมรกตนคร หรือถ้าหากว่าจะไม่มีวันถึงเลยในชาตินี้ก็ไม่น่าจะเสียดายนัก เพราะพนมเทียนได้ทำอย่างที่นักประพันธ์น้อยคนทำได้ คือพาคนอ่านเดินดุ่มตามไปด้วยทุกก้าว ไม่ว่าจะขึ้นเขาลงเหวหรือแวะพักแรมที่ท้องธารห้วยละหานไหน คนอ่านจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นหนึ่งในคณะเดินทาง มีความผูกพันฉันมิตรกันแน่นแฟ้นกับทุกคน ตอนไหนพวกเขาตกอยู่ในอันตรายเราก็ตกอยู่กับเขาด้วย เขารอดตาย เราก็รอดตายอย่างน่าใจหายใจคว่ำไปด้วย เขาจะอดอยาก หรืออิ่มหนำ จะสุขหรือทุกข์ จะรักหรือจะโศก เราก็ร่วมอยู่ในอารมณ์เดียวกัน ไม่ได้แปลกแยกออกไป การเดินทางนั้นจึงมีรสชาติครบถ้วนอยู่ในตัวของมัน แทบไม่ต้องสนใจด้วยซ้ำว่าจะถึงจุดหมายปลายทางเมื่อไร

ตัวละคร
นับว่าไม่ใช่ของง่าย ที่พนมเทียนสร้างตัวละครเอกมาประชันกันถึง 6 คน และตัวละครรองที่เสริมบทบาทอย่างสม่ำเสมออีก 6 คนจนตลอดเรื่องของภาคแรก และยากมากขึ้นเมื่อต้องกำหนดบุคลิกลักษณะ นิสัยใจคอ วิธีการพูดจา ตลอดจนคุณสมบัติเฉพาะตัวไม่ให้ซ้ำกัน ชนิดที่ว่าอ่านแค่บทสนทนาก็รู้แล้วว่าใครเป็นคนพูด โดยไม่ต้องบอกชื่อ ซ้ำตัวละครเอกเหล่านั้นต่างก็สามารถสำแดงความโดดเด่นของตนออกมาได้อย่างเด่นชัด ต่างคนต่างมีความน่าประทับใจกันไปคนละแบบ ไม่มีใครถูกพระเอกนางเอกของเรื่องบดบังรัศมีให้กลืนหายไปในฉากหลัง

คนอ่านหลายคนอาจรู้สึกว่า ถ้าหากพบหน้าก็จะยกมือไหว้เชษฐาด้วยความนับถือความเป็นสุภาพบุรุษในเนื้อแท้ และความเป็นเชื้อสายราชตระกูลที่ควรแก่การยกย่อง แต่จะเอื้อมมือไปเขย่ามือกับไชยันต์ด้วยความพอใจถูกอัธยาศัย หรือก้มศีรษะให้รพินทร์ด้วยความชื่นชมและรักสนิทใจในความเป็นลูกผู้ชายแท้ แต่เมื่อเหลียวไปมองความสงบเสงี่ยมซ่อนคมของแงซาย ก็น่าส่งยิ้มทักทายด้วยความเอ็นดูและคร้ามเกรงไปพร้อมๆกัน ส่วน ดารินนั้น ย่อมเป็นที่รักของคนอ่านชายและหญิงได้สองเพศ ในขณะที่มาเรีย "แม่ตาสีดอกผักตบ" "เจ้าแม่ประโลมโลกย์" อาจจะทำให้หนุ่มหลายคนคึกคักขึ้นมาทันตาเห็นแม้เพียงแค่สบตาแวบเดียว

การสร้างตัวละครแต่ละคนให้ความสมจริงสมจังออกมาให้เห็น ชนิดเอื้อมมือไปสัมผัสเลือดเนื้อและลมหายใจกันได้เช่นนี้ จะต้องยกให้เป็นความสามารถของพนมเทียนล้วนๆ ไม่ต้องแบ่งปันให้แฮกการ์ด โดยเฉพาะเมื่อคิดว่าตัวละครเหล่านี้เป็นแบบที่นักวรรณคดีเรียกว่า flat characters หรือน้อยลักษณะ คือมีนิสัยหรืออารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเด่นออกมาอย่างเดียว แต่เมื่อสามารถสร้างได้มีชีวิตชีวาเต็มไปด้วยเสน่ห์ดึงดูดใจคนอ่านตลอดความยาวเหยียดหลายสิบเล่ม ดูๆไปจะยากกว่าสร้างตัวละครที่ซับซ้อนในแง่หลากหลายอารมณ์ในหนังสือเล่มเล็กๆ เล่มเดียวจบเสียอีก

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ตัวละครเหล่านี้ดูสมจริง ทั้งที่เป็น flat characters อยู่ที่ความพิถีของพนมเทียน ที่เกือบจะไม่ยอมให้ตัวละครทำอะไรที่ออกนอกกรอบลักษณะนิสัยหรือบุคลิกของตน จนกระทั่งดูไม่น่าเชื่อ หรือผิดไปจากที่ควรเป็น เช่นดาริน ต่อให้อยู่ในห้วงรักมากแค่ไหน ก็ยังมีศักดิ์ศรีเป็นตัวของตัวเองอยู่เสมอ มาเรียแม้ว่ามีนิสัยเจ้าชู้ เห็นผู้ชายเป็นดอกหญ้าริมทางให้เด็ดไปเรื่อยๆ ก็ละเว้นเชษฐาไว้ด้วยความนับถือยำเกรง เชษฐาเองก็ไม่มีท่าทีว่าจะสนใจมาเรียในแง่นี้ ดังนั้นเหยื่อของมาเรียจึงกลายเป็นไชยยันต์ ผู้ใจอ่อนและซื่อกว่าคนอื่น ส่วนแงซายนั้นรู้กำเนิดสูงส่งของตัวเองดี สามารถปลีกตัวจากมาเรียไปได้อย่างสวยงาม ผิดกับรพินทร์ซึ่งเป็นมนุษย์ปุถุชนธรรมดา ผู้หญิงมาเสนอจนถึงที่แล้วก็ต้องสนองไปเพื่อให้หมดปัญหา

ภาษา
ความสามารถข้อที่สองของพนมเทียนที่เห็นแจ่มชัดมาก คือฝีมือการใช้ภาษาและการเก็บรายละเอียดของสิ่งที่ผ่านสายตา นับเป็นคุณสมบัติที่จำเป็นอย่างยิ่งของผู้ยึดอาชีพการประพันธ์

พนมเทียนมีข้อนี้มากมายจนเรียกได้ว่าเหลือเฟือ จึงสามารถสลักเสลาฉากแต่ละฉาก ทั้งทิวทัศน์ ช่วงเวลา สภาพแวดล้อม ตลอดจนเหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์ออกมาอย่างแนบเนียน ได้ภาพชัดเจนแจ่มใส ไม่ใช่เฉพาะฉากป่าซึ่งเราอาจจะรู้สึกว่ามีต้นแบบมาจากของจริงเท่านั้น แม้ภาพที่ไม่เคยเกิดและไม่มีวันเกิดขึ้นได้ในโลก พนมเทียนก็สร้างออกมาด้วยรายละเอียดสมจริงไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นภาพเจ้างูยักษ์ออกอาละวาดที่หล่มช้าง นิทรานครที่ถล่มจมดินลงไปด้วยอำนาจของพ่อมดร้ายมันตรัย ดินแดนหลงสำรวจในยุคโลกล้านปี ไปจนถึงเทือกเขาและทุ่งราบชายแดนมรกต

รายละเอียดเหล่านี้ ถ้าเทียบกับงานศิลปะ จะเห็นได้ว่าพนมเทียนเป็นผู้พิถีพิถันทั้งในด้านรูปทรง สีสัน แสงและเงา ตลอดจนความเคลื่อนไหวที่แปรเปลี่ยนไม่หยุดนิ่ง มีแม้กระทั่งเสียง ด้วยการเลือกใช้ถ้อยคำอย่างวิจิตรบรรจง มีกลิ่นอายของวรรณคดีอยู่ในภาษาที่ใช้ เหมือนกับการแกะสลักลายซ้อนลงไปทีละชั้นจนเป็นหลายชั้นลึกละเอียด ไม่ใช่เพียงแต่ร่างคร่าวๆ พอให้เป็นรูปขึ้นมาเท่านั้น

เพื่อให้เห็นภาพ จะขอยกตัวอย่างจากบางตอนมาดังนี้
ถ้าหากว่าขอให้ใครสักคนเขียนบรรยายเหตุการณ์การเข้าไปอยู่กลางป่าเวลากลางคืน แล้วเกิดพายุฝนขึ้นมา ดูน่ากลัวมาก เขาก็อาจจะบรรยายว่า
"พายุพัดแรงมาก ต้นไม้ใหญ่สะเทือนรุนแรงไปหมดทั้งป่า จนป่ามืดมิดน่ากลัว แล้วฝนก็ตกลงมาอย่างหนัก"

แต่พนมเทียนใช้คำดังนี้
ฝนฟ้ายิ่งทวีความแรงกล้าขึ้นทุกขณะ เสียงไม้ใหญ่หักล้มอยู่โครมครืน ระคนไปกับสายอสุนีบาต ทุกครั้งที่ฟ้าแลบ มองเห็นป่าลู่ระเนนไปด้วยอำนาจพายุกลางสายฝนอันหนาทึบ แล้วก็ดับวูบ ครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่างให้มืดทะมึนอยู่ในเหวนรกต่อไป
(ตอน ไพรมหากาฬ)

คำบรรยายนี้มีทั้งลักษณะของป่ากลางพายุฝน(รูปทรง) ความมืดของป่าสลับกับสายฟ้าแลบและสายฝน(แสงและสีและเงา) ป่าลู่ระเนนด้วยแรงพายุ(การเคลื่อนไหว) และไม้ใหญ่หักล้มโครมครืน(เสียง)

อีกตอนหนึ่งเป็นภาพจากจินตนาการล้วนๆ ไม่ใช่ภาพจำลองจากธรรมชาติที่เคยพบเห็นอย่างในตัวอย่างนี้ แต่ก็มีครบทุกลักษณะเช่นกัน

พร้อมกับเสียงกัมปนาทของนัดที่สอง เหมือนกับเพิ่มฤทธ์ร้ายแก่เจ้างูมหายักษ์ตัวนั้นขึ้นอีก มันสะบัดดิ้นสุดแรงเกิดฟาดพงไม้และแผ่นดินเหมือนพายุทอร์นาโด ปากอันใหญ่โตอ้ากว้างมองเห็นแดงฉาน เลือดทะลักฟูมเต็มหัว ไม่มีปัญหา... นัดแรกของเขา เจาะนัยน์ตาซ้ายของมันอย่างถนัดถนี่ที่สุด หมุนคว้างส่ายร่าอยู่ไปมา ส่งเสียงขู่สนั่นราวกับหัวรถจักรไอน้ำอยู่เช่นนั้นท่อนหางวาดขึ้นไปรัดพันกับต้นยางไว้ ท่อนกลางของลำตัวโก่งงอโค้งเป็นวงขึ้นไปในอากาศสูงกว่ายอดตะแบก แล้วก็ฟาดลงมาแตะดินอีกครั้ง กระทบยอดตะแบกหักครืนแหลกยับลงมาทั้งกิ่งอย่างน่ากลัว
(ตอน ดงมรณะ เล่มที่ 4 หน้า 713)
เจ้างูยักษ์ตัวนี้มีความยาวเท่าขบวนรถไฟ เป็นสัตว์ในจินตนาการล้วนๆ หาของจริงมาเป็นแบบไม่ได้ ดังนั้นจึงไม่ง่ายเลย เมื่อต้องสร้างภาพเหตุการณ์ขณะกำลังอาละวาด แต่พนมเทียนก็สามารถที่จะสร้างทั้งภาพ สีสัน เสียง การเคลื่อนไหว การเปรียบเทียบกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เห็นฤทธิ์เดชของมันชัดเจน โดยไม่มีของจริงให้จำลองออกมา
 
คนอ่านเห็นทั้งสัดส่วนความใหญ่ของมัน เมื่อหางรัดพันต้นยาง และท่อนกลางโก่งสูงกว่าตะแบก(รูปทรง) เลือดทะลักฟูมหัว(สี) หมุนคว้างส่ายร่าและท่อนกลางลำตัวโก่งโค้งเป็นวงขึ้นไปในอากาศ ฟาดลงมาจนยอดตะแบกหักครืน (การเคลื่อนไหว) ขณะมันเองก็ส่งเสียงขู่สนั่นเหมือนหัวรถจักรไอน้ำ(เสียง) ให้รายละเอียดถี่ถ้วน

ภาษาของพนมเทียนไม่เคยเป็นคำโดดๆ สั้นๆ ห้วนๆ อย่างที่สมัยนี้นิยมกัน ว่าเป็นความเรียบง่าย แต่เป็นภาษาที่อลังการ (ซึ่งสมัยนี้ไม่ค่อยเหลือให้เห็นอีกแล้ว) ประกอบด้วยคำขยาย บอกภาพ ลักษณะ อารมณ์ สีสัน ชัดเจน ดังที่ทำตารางตัวอย่างเทียบไว้ตามนี้

ภาษาธรรมดาทั่วไป ภาษาของพนมเทียน
สีแดง แดงฉาน
แดงก่ำเป็นสีทับทิม
เลือดไหลมาก เลือดไหลทะลักออกมาโกรก
ปืนยิงออกไปดังปัง เสียงปืนกัมปนาทขึ้น
ปืน แผดเสียงสนั่น
ยิงปืน ประทับปืนลั่นกระสุนออกไปอย่างฉับไว
เล็งยิงอย่างประณีต
ใจหาย แสยงวูบไปถึงขั้วหัวใจ
ร้องลั่น ร้องก้องไปทั้งป่า
เทือกเขาสูงมาก เทือกเขาสูงทะยานเยี่ยมฟ้า
สัตว์ขนสีดำ ขนมันระยับราวกับนิล
งูจงอาง มัจจุราชลายลูกหวาย
ควายป่า มหิงษา
ช้างตัวใหญ่ พญาคชสาร
ฯลฯ

การใช้ภาษาเช่นนี้ เพียงแค่สังเกตการเลือกสรรถ้อยคำมาใช้ ก็นับเป็นความเพลิดเพลินสำหรับคนอ่านอยู่แล้วในตัว โดยแทบจะไม่ต้องอ่านต่อถึงเนื้อความด้วยซ้ำไป

เมื่อวิจารณ์มาถึงตอนนี้ ผู้อ่านหลายท่านอาจจะเกิดคำถามขึ้นมาว่า จะตั้งหน้าตั้งตาชมกันจนไม่มีข้อบกพร่องอะไรบ้างหรือ สำหรับนวนิยายขนาดยักษ์เรื่องนี้ เป็นที่รู้กันว่าไม่มีงานอะไรในโลกที่สมบูรณ์แบบเสียจนไม่มีข้อบกพร่อง แต่การตั้งหน้าตั้งตาแต่จะจับผิดอย่างเดียว หรือชมเชยสรรเสริญเสียจนสุดโต่ง ย่อมไม่นับเป็นการวิจารณ์ แต่ในเมื่อ ส่วนดีของเขามีก็ต้องยกมาให้เห็น ส่วนที่มีความเห็นไปทางอื่น ก็จะค่อยๆลำดับออกมาเป็นอันดับต่อไป

 
     
สมาชิกใหม่ทุกท่าน >>> กดที่นี่

ท่านเป็นเช่นนี้หรือไม่ ?
1 login ... เข้าเวป
2 หาเพลงโหลด
3 มีให้โหลด ตอบเพื่อโหลด ไม่มีให้โหลด ไปข้อ4
4 logout ... ไปดีกว่า
อา-ราย-หว่า ???

บันทึกการเข้า

...รักสูญสิ้นภิณฑ์พรากจากเหน่งบา.....
หน้า: [1]
 
 
กระโดดไป:  






Saisampan.net
สายสัมพันธ์ - เพลงลูกทุ่งเก่า (เก่ากว่าที่ท่านคิด)
Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2011, Simple Machines Valid XHTML 1.0! Valid CSS!